อาชีพข้าราชการ ในฝันที่ใครๆ ก็อยากเป็น “ข้าราชการ”

หากพูดถึงอาชีพที่เป็นเสมือนอาชีพที่อยู่คู่กับคนไทยทุกรุ่นทุกวัย ก็ต้องนึกถึงอาชีพข้าราชการ หนึ่งในอาชีพที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความมั่นคงในด้านการงาน และยังเป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวอีกด้วย

เนื่องจากระบบราชการเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติ ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐให้เกิดผล นำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบสุขและเจริญก้าวหน้าไปสู่ระดับนานาชาติได้ในอนาคต

ตามพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามความหมายของ ‘ข้าราชการ’ ไว้ว่า เป็นคนที่ทำราชการตามทำเนียบ ผู้ปฏิบัติราชการในส่วนราชการ และเป็นบุคคลซึ่งรับราชการโดยรับเงินเดือนจากเงินงบประมาณในกระทรวง ทบวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการเมือง ข้าราชการครู ข้าราชการทหาร ข้าราชการตุลาการ และข้าราชการอัยการ

อยากทำงานราชการต้องทำอย่างไร?

ในประเทศไทยการทำงานราชการ สามารถเข้าได้หลายทางด้วยกัน ดังนี้ 

• การสอบแข่งขัน

ก.พ. หรือ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน มีบทบาทสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม ด้วยการพิจารณา และดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นข้าราชการที่ดี และมีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งงาน ถือเป็นการเตรียมกำลังคนภาครัฐให้พร้อมและผลักดันนโยบายของรัฐให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมาย 

วิธีสมัครสอบ ก.พ.

  • สามารถสมัครสอบได้ที่ job.ocsc.go.th และพิมพ์แบบฟอร์มการชำระเงินไปจ่ายที่ธนาคารกรุงไทย สามารถใช้ ATM, Netbank หรือไปจ่ายที่ธนาคารโดยตรง พร้อมเลือกศูนย์สอบใกล้บ้าน
  • หลังชำระเงินไปแล้ว 2 วันทำการ สามารถเข้าไปตรวจสถานะการสมัครสอบได้ที่ job.ocsc.go.th
  • พิมพ์บัตรประจำตัวผู้สอบ

ขั้นตอนในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการจะมีทั้งหมด 3 ขั้นตอน ได้แก่

1.สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก.)

ทางสำนักงาน ก.พ.จะมีการจัดสอบขึ้นทุกปี ซึ่งเปิดรับสมัครให้กับผู้ที่จบการศึกษาแล้ว และผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีสุดท้ายของระดับชั้น ปวช. ปวท. ปวส. อนุปริญญา ปริญญาตรี หรือปริญญาโท 
โดยจะมีประกาศประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://job.ocsc.go.th จะมีการแบ่งข้อสอบออกเป็น 3 วิชา ได้แก่

  • วิชาความรู้ทั่วไป : ด้านการคิดคำนวณ และด้านการให้เหตุผล
  • วิชาภาษาไทย : ด้านความเข้าใจภาษา โดยการอ่านและทำความเข้าใจบทความ การเขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษา
  • วิชาภาษาอังกฤษ : การฟัง พูด อ่าน เขียน
  • เอกสารที่ใช้ในการยื่นในวันสอบ : ใบสมัครติดรูปถ่ายและบัตรประจำตัวประชาชน

2) สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) 

ผู้สมัครจะต้องได้หนังสือรับรองเพื่อยืนยันว่าผ่านภาค ก. แล้วจึงจะสมัครได้ จะมีการทดสอบเกี่ยวกับตำแหน่งเฉพาะนั้น ๆ เช่น ตำแหน่งนิติกร จะทำการทดสอบเกี่ยวกับกฎหมาย เป็นต้น

  • เอกสารที่ใช้ในการยื่นในวันสอบ : ใบสมัครติดรูปถ่ายและบัตรประจำตัวประชาชน

3) สอบเพื่อวัดความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค.)

 
จากนี้ไปจะเป็นการสอบสัมภาณ์ หรืออาจจะมีการทดสอบอย่างอื่นเพิ่มเข้ามา เช่น การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย หรือการทดสอบทางจิตวิทยา เป็นต้น

• เอกสารที่ใช้ในการยื่นในวันสอบ
  • บัตรประจำตัวผู้เข้าสอบที่พิมพ์จากเว็บไซต์ พร้อมลงลายมือชื่อในบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ 1 ฉบับ
  • ใบสมัครสอบติดรูปถ่าย 1 ฉบับ
  • สำเนาบัตรประชาชนและบัตรประชาชนตัวจริง 1 ฉบับ
  • สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
  • สำเนาใบปริญญาบัตรหรือหนังสือรับรองการศึกษาและสำเนาใบแสดงผลการศึกษา อย่างละ 2 ฉบับ
  • สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ สำหรับตำแหน่งที่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพ เช่น สัตวแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก เป็นต้น 2 ฉบับ
  • ใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากแพทยสภา ออกให้ไม่เกิน 1 เดือน และไม่เป็นโรคต้องห้าม
  • เอกสารทางทหาร (กรณีผู้สอบเป็นเพศชาย) พร้อมสำเนาอย่างละ 2 ฉบับ
  • สำเนาหลักฐานอื่นๆ เช่น ใบสำคัญสมรส หรือใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เป็นต้น อย่างละ 1 ฉบับ

หมายเหตุ : โดยสำเนาหลักฐานทุกฉบับจะต้องมีการเซ็น “สำเนาถูกต้อง” พร้อมระบุวันที่ ชื่อ ตำแหน่ง เลขบัตรประจำตัวผู้สอบ ไว้ที่มุมขวาบนของสำเนาเอกสารทุกหน้า

• การคัดเลือก
  • หน่วยราชการต่าง ๆ ประกาศรับคัดเลือกบุคคลเข้าบรรจุโดยไม่ต้องผ่านการสอบภาค ก. โดย ก.พ.จะเป็นผู้กำหนดวุฒิการศึกษาในการเข้ารับการคัดเลือก
  • คุณสมบัติตรงตามประกาศรับสมัครสอบเข้ารับข้าราชการทุกประการ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://job.ocsc.go.th
  • เข้ารับการประเมินความเหมาะสมของตำแหน่งนั้น ๆ ตามหลักสูตรที่ส่วนราชการนั้น ๆ กำหนด ซึ่งอาจมีการสอบข้อเขียน สอบปฏิบัติ สอบสัมภาษณ์ เป็นต้น

ไม่ต้องสอบก็เป็นข้าราชการได้ 

การเข้าทำงานข้าราชการโดยไม่ต้องสอบ หรือคัดเลือกนี้ จะมีขึ้นก็ต้อเมื่อบุคคลนั้น ๆ  มีคุณสมบัติ 5 ข้อ ดังนี้ 

  1. เมื่อมีข้าราชการผู้หนึ่งเสียชีวิต อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ สามารถพิจารณาให้มีการคัดเลือกบรรจุทายาทของข้
  2. ราชการผู้นั้น ในตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน หรือตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  3. เมื่อมีข้าราชการผู้หนึ่งทุพพลภาพหรือพิการ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ สามารถพิจารณาให้มีการคัดเลือกบรรจุทายาทของข้าราชการผู้นั้น ในตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน หรือตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  4. เมื่อบุคคลหนึ่งปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี หน่วยงานราชการสามารถพิจารณาให้มีการคัดเลือกบรรจุบุคคลผู้นั้นเข้ารับราชการ ในตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน หรือตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  5. เป็นผู้ได้รับบำเหน็จความชอบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้บำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ
  6. เป็นผู้ได้รับบำเหน็จความชอบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเน็จความชอบ ค่าทดแทน และการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือช่วยเหลือราชการ เนื่องในการป้องกันอธิปไตยและรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ

ขั้นตอนการรายงานตัวเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ

  • ผู้ได้รับการเรียกบรรจุรายงานตัว ณ กองการเจ้าหน้าที่ พร้อมยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
  • รูปถ่ายสวมเครื่องของกรมหรือสำนักงานภาครัฐนั้นๆ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • สำเนาทะเบียนสมรส, ทะเบียนหย่า (ถ้ามี)
  • สำเนาหนังสือสำคัญการแสดงการเปลี่ยนชื่อตัวเองหรือชื่อสกุลของคู่สมรส (ถ้ามี)
  • สำเนาปริญญาบัตร
  • สำเนาระเบียนแสดงผลการเรียน
  • สำเนาใบสำคัญทางทหาร (สด.9)/(สำหรับผู้ชาย)
  • เจ้าหน้าที่จากกองการเจ้าหน้าที่ซักซ้อมวิธีการดำเนินการรายงานตัวและแจ้งสรุปตำแหน่งว่างพร้อมหน้าที่ความรับผิดชอบรายตำแหน่งให้ทราบ
  • เปิดโอกาสให้ผู้รับรายงานตัวเลือกตำแหน่งว่างและหน่วยงานที่ประสงค์จะบรรจุเข้ารับราชการ โดยให้เลือกเรียกตามลำดับที่ๆ สอบเข้าแข่งขันได้
  • ผู้รับรายงานกรอกรายละเอียด ข้อมูล เอกสารประกอบการบรรจุและเอกสารถึงสถานีตำรวจ
    กองการเจ้าหน้าที่จัดทำหนังสือถึงสถานีตำรวจเพื่อตรวจสอบประวัติและมอบให้ผู้ได้รับการเรียกบรรจุไปยื่นต่อสถานีตำรวจตามภูมิลำเนา
  • ผู้ได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติราชการและลงชื่อปฏิบัติราชการ ณ กองการเจ้าหน้าที่

ลักษณะต้องห้ามทำงานราชการ 

เป็นที่เข้าใจว่าการทำงานราชการ ต้องมีชนักติดหลังขึ้นป้ายเป็นคนดีและซื่อสัตย์ การเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่นี้จึงต้องกรองบุคคลประวัติที่ด่งพร้อยมากที่สุด ทางสำนักงาน ก.พ. จึงได้ออกข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้สามารถสมัครเข้ารับราชการไว้ดังนี้ 

  1. บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจในสังคม
  2. เป็นบุคคลล้มละลาย
  3. เป็นบุคคลต้องโทษจำคุกในคดีอาญา
  4. ถูกให้ออก ปลดออก ไล่ออก จากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
  5. ถูกให้ออก ปลดออก ไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัย
  6. ทุจริตสอบเข้ารับราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ 

ทั้งนี้แม้ข้อกำหนดดังกล่าวจะถูกเขียนมาเพื่อกำหนดคนทำงานราชการ แต่ใช่ว่าทาง ก.พ. จะใจดำ ปิดช่องให้บุคคลคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นไม่มีโอกาสเข้ารับทำงานราชการเลย เพียงแต่บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามต้องยื่นคำร้องขอให้ทาง ก.พ. พิจารณายกเว้นฯ ก่อนสมัครสอบรับราชการได้ 

สรุป

ข้าราชการ เป็นอาชีพต้นๆ ที่คนไทยได้ปลูกฝัง ให้เด็กใฝ่ฝันเข้ามาทำอาชีพนี้ การจะได้ทำงานราชการจึงต้องมีความยากลำบาก และมีการแข่งขันสูง แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย หากมีความมุมานะ อดทน และไม่ย่อท้อแล้ว การผลักดันตัวเองให้เข้ามาทำงานด้านนี้ก็ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม ขณะเดียวกันเมื่อมาทำหน้าที่นี้แล้ว ก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการทำงานให้เต็มที่ เพื่อนำพาประเทศชาติและเป็นที่พึ่งพิงของประชาชน ดั่งวลีที่ว่า 'ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน ต้องเป็นคนดี คนเก่ง '


ข้อมูลบางส่วนจาก : สำนักงานก.พ., Fisheries

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life