ขึ้นทะเบียนคนว่างงาน ขั้นตอนแรกของคนตกงาน
นับตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ปีที่แล้วเป็นปีที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง ทั้งความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่คาดเดาไม่ได้ในหลายด้าน ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในเชิงเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น หลายองค์กรเริ่มใช้เทคโนโลยีในการทำงาน เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างงานคน ลดเวลาในการทำงาน ทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ทำให้หลายองค์กรเริ่มเลิกจ้างพนักงาน ลดชั่วโมงการทำงาน หยุดทำงานชั่วคราว หรือแม้กระทั่งการปิดกิจการลง
นอกจากเหตุผลที่เกี่ยวกับทางเศรษฐกิจแล้ว ก็ยังมีเหตุผลส่วนตัวที่มาจากลูกจ้างเองอีกด้วย เช่น การเลือกงาน เนื่องจาก...
วุฒิการศึกษาไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เราสามารถสังเกตเห็นได้ว่ายิ่งการศึกษาสูง ยิ่งมีโอกาสตกงานสูง เพราะยิ่งระดับความรู้สูง ยิ่งหาตำแหน่งงานที่ลงตัวได้ยากยิ่งกว่าเดิม ในขณะที่วุฒิ ปวช.และ ปวส. จะมีอัตราการว่างงานที่น้อยกว่า เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ค่าตอบแทนไม่เป็นที่พอใจ ทำให้คนไทยบางคนพยายามที่จะไปทำงานที่ต่างประเทศ เนื่องจากค่าตอบแทนและค่าเงินสูงกว่า
ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่แบบนี้ การเลือกงานเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอันตรายสำหรับอนาคต เพราะว่าปัจจุบันงานได้หายากมากยิ่งขึ้น นี่เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้บางบริษัทเลือกจ้างแรงงานต่างด้าวมากกว่าคนไทยด้วยกันเอง เนื่องจากแรงงานต่างด้าวมีความอดทนและไม่เกี่ยงงาน
ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้มีนโยบายในการจ่ายค่าชดเชยให้สำหรับคนว่างงาน ไม่ว่าจะลาออกเองด้วยความสมัครใจ ตกงาน หรือถูกเลิกจ้าง ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากประกันสังคม โดยการลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงาน สามารถทำได้ดังนี้
ลงทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (ผ่านทางเว็บไซต์ www.empui.doe.go.th) ภายใน 30 วันหลังการว่างงาน และรายงานตัวตามกำหนดนัด เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับเงินชดเชย
ด้วยการยื่นแบบคำร้องกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ (ยกเว้นที่สำนักงานใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข) หรือ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1694 เวลา 08.30 – 16.30 น.
ผู้ว่างงานแบบไหนถึงจะมีสิทธิรับเงินชดเชยสำหรับผู้ว่างงาน?
- จ่ายเงินสมทบให้กับนายจ้างรายสุดท้ายมาแล้ว 6 เดือนในระยะเวลา 15 เดือน
- ว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
- ขึ้นทะเบียนแป็นผู้ว่างงานของสำนักงานจัดหางานของรัฐหรือลงทะเบียนผู้ว่างงานภายใน 30 วันตั้งแต่วันที่ว่างงาน
- ต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดของสำนักงานจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
กรณีลาออก : รายงานตัว 3 ครั้ง 90 วัน
กรณีเลิกจ้าง : รายงานตัว 6 ครั้ง 180 วัน
*หากมาขึ้นทะเบียนภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน เป็นผู้มีความสามารถในการทำงานและพร้อมทำงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้ ต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน
ผู้ว่างงานจะต้องไม่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลต่อไปนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่
- ตั้งใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือกฎระเบียบหรือคำสั่งอันชอบของที่ทำงาน
- ละทิ้งหน้าที่เกิน 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
เงิดชดเชยที่จะได้รับระหว่างการว่างงาน
- กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ผู้ว่างงานมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท - กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ผู้ว่างงานมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท - ในกรณียื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง หรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกหรือ สิ้นสุดสัญญาจ้างเกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
สถานที่ลงทะเบียนผู้ว่างงาน และเอกสารที่ใช้ลงทะเบียน
สามารถยื่นเอกสารได้ที่สำนักงานประกันสังคมได้ทั่วประเทศ (ยกเว้นที่สำนักงานใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข)
เอกสารที่ต้องใช้ยื่นเพื่อขอรับเงิดชดเชยผ่านทางสำนักงานประกันสังคม
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 2 ชุด
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงาน (สปส. 6 -09) กรณีที่ไม่มีสำเนา สปส.6-09 ก็สามารถไปขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานได้
- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก
ขั้นตอนในการขอรับเงินชดเชยระหว่างว่างงานผ่านทางสำนักงานประกันสังคม
1.ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางาน กรมการจัดหางาน
กรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน พร้อมหลักฐานดังนี้
- บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา 2 ชุด
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
2.กรอกแบบคำขอรับผลประโยชน์ พร้อมหลักฐานดังนี้
- หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออก (สปส. 6 -09)
- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก
3.เจ้าหน้าที่จะทำการสัมภาษณ์ ตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติการทำงาน
4.เจ้าหน้าที่จะเลือกตำแหน่งว่าง 3 ที่และให้ผู้ว่างงานพิจารณา
5.หากยังไม่มีงานที่เหมาะสม เจ้าหน้าที่จะประสานงานและส่งไปฝึกอบรมงานตามความจำเป็น แต่หากผู้ว่างงานไม่ยอมปฏิบัติตามก็จะไม่ได้รับเงินชดเชย
6.เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกสถานะของผู้ว่างงานลงฐานข้อมูลกลาง
7.เจ้าหน้าที่จะทำการพิจารณาผู้ว่างงานว่าผ่านหรือไม่ สมควรได้รับเงินชดเชยหรือไม่
8.หากมีคุณสมบัติครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมจะทำการโอนเงินให้ตามสิทธิเดือนละ 1 ครั้ง
9.หากผู้ว่างงานไม่พอใจกับคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันหลังได้รับแจ้งคำสั่ง
ลงทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
สามารถลงทะเบียนผู้ว่างงาน และรายงานตัวผ่านทางเว็บไซต์ www.empui.doe.go.th
- ขั้นตอนในการขอรับเงินชดเชยระหว่างว่างงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
เข้าเว็บไซต์ http://empui.doe.go.th/auth/index กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักและรหัสผ่าน แล้วคลิกเข้าสู่ระบบ -
**หากจำรหัสผ่านไม่ได้หรือเข้าระบบไม่ผ่านให้กดที่ “ลืมรหัสผ่าน”
***รหัสผ่านคือหมายเลขบัตรประชาชน - เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเสร็จ ให้อ่านข้อตกลงในการใช้บริการแล้วจึงกดปุ่ม “ยอมรับและเข้าใช้งาน” และกดปุ่ม “ขั้นตอนต่อไป”
- กรอกข้อมูลตามบัตรประชาชน และกดปุ่มตรวจสอบข้อมูล ข้อมูลจะถูกส่งไปยังกรมการปกครอง
- กรอกข้อมูลส่วนตัวที่เหลือให้ครบ แนบรูปถ่ายหน้าตรงไม่เกิน 100 KB (ถ้ามี) แล้วกดปุ่มลงทะเบียน
- เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานได้ทันที
- ขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานโดยการเลือกเมนูขึ้นทะเบียนผู้ว่างงาน ระบบจะแสดงข้อมูลที่บันทึกไว้แล้วและกรอกข้อมูลเพิ่มเติมลงไป และคลิกปุ่มขึ้นทะเบียน
- ผู้ว่างงานจะได้รับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียน เอกสารแนะนำตำแหน่งงาน และวันนัดรายงานตัว ซึ่งสามารถปริ้นออกมาได้
- หากต้องการหาตำแหน่งงานเพิ่มเติม สามารถหาได้จากปุ่มงานแนะนำ
- ทำการรายงานตัวผ่านระบบ 1 ครั้งต่อเดือน
**หากไม่สามารถรายงานตัวผ่านทางเว็บไซต์ สามารถไปขึ้นทะเบียนและรายงานตัวได้ที่สำนักงานจัดหางาน
ธนาคารที่สามารถใช้ในการลงทะเบียนผู้ว่างงาน
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
สรุป
หลังว่างงานใหม่ ๆ ไม่ว่าจะกรณีใด ๆ แรงงานหลายคนก็คงมืดแปดด้านถึงอนาคตข้างหน้าของชีวิต ว่าจะเอาอย่างไรต่อดี หากยังคิดไม่ออกขอให้ตั้งสติ แล้วไปดำเนินการลงทะเบียนคนว่างงานไว้ เพราะนอกจากหน่วยงานจะเป็นอีกแรงในการหางานให้แล้ว ยังมีเงินชดเชยไว้ให้ใช้จ่ายยามที่ว่างงานอยู่ด้วย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นจำนวนเงินก้อนโต แต่เชื่อว่าจะเป็นเงินที่ช่วยต่อความหวัง ให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้าได้ หากไม่เชื่อก็ลองโทรไปสอบถามที่สายด่วน 1506 เพื่อไขข้อข้องใจดูซิ
ข้อมูลบางส่วนจาก: เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม