ปีใหม่ชาวอาข่าประเพณีคงคุณค่าน่าค้นหาไปสัมผัส
เชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่เก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน อีกทั้งยังมีหลายชนชาติที่เข้ามาตั้งรกราก อาทิ เช่น คนไทยพื้นราบ, ชาวไทยภูเขา, ชาวลาวอพยพ และชาวจีน จึงทำให้จังหวัดเชียงรายมีประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่สำคัญยังเป็นจังหวัดที่สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล ในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นมกราคมชาวไทยภูเขาที่เชียงรายจะมีงานเทศกาลและประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่จะไปเข้าร่วม "เทศกาลประเพณีปีใหม่ลูกข่าง" หรือที่เรียกตามภาษาชาวเขาว่า "ค๊าท้องอ่าเผ่ว" เป็นงานเทศกาลเฉลิมฉลองของชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า
โดยงานปีใหม่ลูกข่างในปีนี้ตรงกับวันที่ 20 ธันวาม 2562 - 5 มกราคม 2563 งานประเพณีนี้มีความหมายว่า “ประเพณีเปลี่ยน” เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลทำมาหากินหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่การพักผ่อน มีการประกอบพิธีกรรมพื้นบ้าน ประเพณีนี้จะจัดขึ้นทุกหมู่บ้านของชาวเผ่าอาข่า หมู่บ้านหลักๆ จะอยู่ ณ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่สรวย อำเภอแม่ฟ้าหลวง
ในการประกอบพิธีกรรมพื้นบ้านของชาวเผ่าอาข่าจะแยกออกเป็นแต่ละวันดังนี้
-
วันที่ 1
จะทำการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในช่วงบ่าย การประกอบพิธีขั้นตอนจะเป็นไปตามแต่ละครอบครัว
-
วันที่ 2
ในวันนี้เป็นวันเล่นลูกข่าง ชาวเขาจะทำลูกข่าง โดยขนาดของลูกข่างจะทำขึ้นให้มีขนาดพอดีกับผู้เล่น เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีการละเล่นอยู่ 2 แบบ คือ การแบ่งฝ่าย คือการตั้งลูกข่างเป็นถว แล้วขว้างให้ถูกลูกข่างฝ่ายตรงข้าม วิธีที่สองการเล่นโดยใช้เชือกปั่นลูกข่างให้หมุนแล้วตีลูกข่างโดยวิธีการหมุนเช่นกัน เมื่อถึงกลางคืนจะมีการละเล่นกระบอกไม้ไผ่ วิธีการเล่นก็จะเป็นการกระทุ้งไม้ไผ่ ตี กลอง ฉิ่ง ฉาบ ซึ่งอาข่าถือว่าสนุกสนานการกระทุ้งกระบอกไม้ไผ่นี้จะเล่นตลอดคืน
-
วันที่ 3
เป็นวัน "ล้อดดะอ่าแผ่ว" คือ วันทำพิธีต้อนรับวันใหม่หรือปีใหม่ ซึ่งหลังจากวันนี้ทุกคนในหมู่บ้านจะมีอายุเพิ่มขึ้น 1 ปี ทุกครอบครัวในหมู่บ้านจำทำอาหารเลี้ยง มีการสู่เหล้าดื่มกัน ในวันนี้ตลอดทั้งวันคนเฒ่าคนแก่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาวัฒนธรรมของชุมชน ตอนกลางวันจะมีการแข่งขันการละเล่นพื้นบ้าน เช่น ผู้หญิงเล่นลูกสะบ้า ผู้ชายเล่นลูกข่าง ตอนกลางคืนมีการเต้นรำพื้นบ้านในเวลากลางคืน
-
วันที่ 4
วันสุดท้ายของประเพณีเทศกาลปีใหม่ลูกข่าง ชาวอาข่าเรียกว่า "จ่า ส่า" ในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีใด ๆ จะมีแต่การละเล่นลูกข่างเท่านั้น หรือบางบ้านอาจจะมีการทำอาหารเลี้ยงอยู่แต่ไม่มากนัก
ในช่วงเทสกาลนี้นอกจากประกอบพิธีกรรม มีการละเล่นต่างๆ แล้ว หากมีครอบครัวไหนที่ติดหนี้สินเงินกองกลางของชุมชนต้องนำมาชดใช้คืนในช่วงเทศกาลนี้ หรือหากมีครอบครัวใดต้องการย้ายออกจากชุมชนเพื่อไปตั้งรกรากที่ชุมชนอื่นก็ต้องนำเหล้ามารินเพื่อบอกกล่าวอำลาบอกล่าวแจ้งออกในวงผู้เฒ่าผู่แก่ หรือหากมีครอบครัวใหม่ย้ายเข้ามาในชุมชนก็ต้องทำเช่นเดียวกันเพื่อแจ้งการย้ายเข้าชุมชน งานเทศกาลปีใหม่นี้จึงถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวเขาเผ่าอาข่าที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา