ประเพณีปีใหม่กินวอ เอกลักษณ์ที่คงอยู่ของเผ่าลาหู่(มูเซอ)
ที่จังหวัดเชียงรายมีชนเผ่าชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ลาหู่ เป็นอีกชนเผ่าหนึ่งที่มาตั้งรกรากอยู่ที่เชียงรายมานาน ประเพณีเฉลิมฉลองปีใหม่ หรือในภาษาลาหู่ เรียกว่า ประเพณีเขาะเจ๊าเว แปลว่า ปีใหม่การกินวอ เป็นช่วงวันเซ่นไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำดอย(ผีหลวง) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน(ผีเมือง) รวมถึงยังเป็นช่วงเวลาที่เหล่าบรรดาญาติพี่น้อง ได้กลับมาร่วมงานพร้อมหน้าพร้อมตากันที่บ้าน
การจัดงานปีใหม่การกินวอนี้ อาจจะจัดไม่พร้อมกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละหมู่บ้าน แต่จะมีการตกลงร่วมกันให้จัดในช่วงเวลาที่สมาชิกในกลุ่มตนเสร็จสิ้นจากภาระกิจการงานต่างๆ เมื่อไหร่ ก็ตามส่วนมากก็จะทำเหมือนกันและเริ่มพร้อมกัน เมื่อเก็บเกี่ยวพืชผลของตนเสร็จแล้วก็จะจัดงานกินวอกันขึ้น
เทศกาลของลาหู่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์ แตกต่างจากชนเผ่าอื่นๆ เพราะจะเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่า งานเลี้ยงปีใหม่ชาวลาหู่จะใช้ หมูดำ เป็นหลักในการเซ่นสังเวยและกินเลี้ยง โดยนำส่วนเนื้อหมูและหัวหมู นำไปเซ่นสังเวยต่อ "เทพเจ้าอี้ซา" จากนั้นเอาข้าวเหนียวที่นึ่งมาตำให้เหนียว แล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลอม เรียกว่า อ่อผุ หรือ ข้าวปุ๊ก นำน้ำเนื้อหมูมาปรุง ทำอาหารเลี้ยง
การเฉลิมฉลองของชาวลาหู่ จะใช้เวลานานถึง 12 วัน แบ่งอออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรก จะเป็นการฉลองปีใหม่ของผู้หญิง เรียกว่า "เขาะหลวง" เป็นระยะเวลา 6 วัน
ช่วงที่สอง จะป็นการฉลองปีใหม่ของผู้ชาย เรียกว่า "เขาะน้อย" เป็นระยะเวลา 6 วัน
ซึ่งในระหว่างสองช่วงนี้ จะมีเวลาหยุดกิจกรรมคั่นกลาง 1 - 2 วัน
ในช่วงจัดงานตั้งแต่หัวค่ำจะมีการเต้นรำของชนเผ่าลาหู่ คือ การเต้น "จะคึ" การเต้นจะมีหลายจังหวะ จะเต้นจังหวะอะไรนั้นขึ้นอยู่กับคนตีกลองและคนเป่าแคนลาหู่ โดยจะเต้นเป็นวงกลมรอบต้นวอที่ตั้งไว้กลางหมู่บ้าน และจะเต้นกันไปตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งสาง นอกจากนี้ยังมีการละเล่นตามชนเผ่าลาหู่การแข่งขันลูกข่าง และยังมีการจุดประทัดอีกด้วย
ปัจจุบันนี้การจัดเทศกาลกินวอทั้งสองช่วงนั้น ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามรถเข้าร่วมด้วยกันได้ทั้งหมดสองช่วง หลังจากเสร็จจากช่วงฉลองกินวอแล้วในวันถัดไปชาวลาหู่จะไม่ออกจากบ้านไปไหน เพราะเชื่อกันว่าถ้าออกจากบ้านจะเจอเคราะห์และเจอกับความโชคร้ายต่าง ๆ