ปัจจุบันนี้คนไทยนิยมท่องเที่ยวตามวัดวาอารามกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ทำบุญกราบสักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือจะเข้าชมสถาปัตยกรรมแนวพุทธสถาน หรือจะเข้าปฏิบัติธรรม เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมจัดเป็นทัวร์ 9 วัด วันนี้แอดมินมี ทริปไหว้พระ 9 วัด ภายในตัวเมืองเชียงรายมาแนะนำ แต่ละวัดจะไม่ไกลกันมาก แนะนำให้เช่ารถมอเตอร์ไซด์ อาจจะร้อนกันนิดหน่อยแต่จะได้ฟิวและสะดวกกว่ามาก มาเริ่มกันที่วัดแรกเลยดีกว่า
-
1. วัดมุงเมือง
เริ่มต้นความเป็นสิริมงคลกันที่ วัดมุงเมือง วัดจะอยู่ใกล้ตลาดเทศบาลเมือง สามารถที่จะออกกันแต่เช้าแวะกินข้าวเช้าที่ตลาดกันก่อนให้อิ่มท้องก่อนเริ่มทัวร์วัด วัดมุงเมือง เป็นวัดเก่าแก่มีมาก่อนเมืองเชียงราย เชื่อกันว่าวัดมุงเมืองเป็นเสมือนหลังคาที่คลุมเมืองเชียงรายเอาไว้
มีพระเจ้าสองสี เป็นพระประธานที่มีความศักดิ์สิทธิ์และยังเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากของชาวเชียงราย มีอายุกว่า 600 ปี มีพระอุโบสถ เป็นศิลปะล้านนาประยุกต์ ประกอบกับมีเจดีย์แบบร่วมสมัยมีการประดับจระนำซุ้มด้วยพญานาค และยังมีองค์พระกัจจายน์ ที่มีขนาดใหญ่ความสูงถึง 6 เมตร ผู้คนมักจะนิยมเข้ามาขอโชคลาภและขอให้การงานก้าวหน้า
การเดินทาง จากห้าแยกพ่อขันเม็งราย ใช้ถนนอุตรกิจ ผ่านวัดกลางเวียง ผ่านตลาดเทศบาล วัดอยู่ซ้ายมือ
-
2. วัดเชตะวัน(วัดพระนอน)
มาถึงวัดที่สองวัดนี้ถือว่าเป็นวัดสิริมงคลเมืองประจำทิศตะวันออกของเมืองเชียงราย เชื่อกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพ่อพญาเม็งราย เป็นวัดที่เก่าแก่อีกวัดหนึ่งเลยทีเดียว ก่อนนี้วัดได้ถูปล่อยทิ้งร้าง จนเมื่อครูบาหงส์ ธุดงค์มาจากเชียงใหม่ได้พบเจดีย์ลูกนิมิตและต้นโพธิ์ใหญ่
ท่านจึงได้ตั้งใจที่จะปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดให้ได้ ที่วัดนี้จึงได้แรงศรัทธามีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน มีถาวรวัตถุต่างๆ มากมายภายในวัด เช่น พระอุโบสถ, วิหารพระนอน, ศาลาการเปรียญ, กุฏิสงฆ์ เป็นต้น
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ที่สร้างพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มประเพณีพระนอนมาจนถึงปัจจุบัน โดยกำหนดให้วันขึ้น 15ค่ำ เดือน6 เหนือ ของทุกปีเป็นวันประเพณีพระนอน ภายในวัดยังเป็นศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ชุมชนและชมรมกลองปู๋จา ซึ่งเป็นศิลปะวัฒนธรรมล้านนาดั้งเดิม
จุดเด่นอีกที่ของที่วัดก็จะเป็นซุ้มประตูที่สวยงาม เชื่อได้ว่าทุกคนจะต้องเก็บภาพซุ้มประตูนี้อย่างแน่นอน
การเดินทาง มี 3 เส้นทางให้เลือกโดยจะเริ่มต้นที่ห้าแยกพ่อนขุนเม็งราย
- เส้นทางที่ 1 ห้าแยกพ่อขุนฯ - สนามกีฬากลาง เลี้ยวขวาเข้าชุมชนหนองบัวประมาณ 2 กม. ก็จะถึงวัดพระนอน
- เส้นทางที่ 2 ห้าแยกพ่อนขุนฯ -เวียงชัย ถึงแยกตลาดสดสี่ทรายมูลเสี้ยวซ้ายไปทางชุมชนหนองบัวไปอีกประมาณ 5 กม.
- เส้นทางที่ 3 ห้าแยกพ่อขุนฯ – โรงเรียนเทศบาล 2 วัดพระนอนจะอยู่ติดโรงเรียนเทศบาล 2 ระยะทางประมาณ 1.5 กม.
-
3. วัดพระสิงห์
ตามที่ได้กล่าวไว้ทริปนี้จะเป็นการเหมารถหรือเช่ามอเตอร์ไซด์กันจึงจะบอกแค่เส้นทางของรถส่วนตัว มาต่อกันวัดที่สาม วัดนี้ถือได้ว่าเป็นวัดดังวัดหนึ่งที่มาถึงเชียงรายแล้วที่จะพลาดไม่ได้ เพราะวัดนี้มีความสำคัญเนื่องจากครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธสิหิงค์” พระพุทธที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย เพราะฉะนั้นวัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดพระสิงห์
เป็นวัดอารามหลวงที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงราย มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามไม่แพ้วัดอื่นๆ จุดเด่นที่น่าสนใจภายในวัดจะมี พระเจดีย์ ที่เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนาไทย, พระพุทธบาทจำลอง บนแผ่นศิลาทราย, หอระฆังเก่าแก่ที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน, ต้นศรีมหาโพธิ์จากพุทธคยา มาจากประเทศอินเดีย, ต้นสาละลังกาที่มาจากที่เดียวกับต้นพระศรีมหาโพธิ์
และยังมี บานประตูหลวงที่แกะสลักจากไม้อย่างประณีตสวยงาม พร้อมกับมีปริศนาธรรมให้ขบคิด ซึ่งออกแบบโดยศิลปินเอกที่มีผลงานระดับโลก อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี วัดพระสิงห์ยังเป็นแหล่งรวมศิลปะล้านนาอันทรงคุณค่าที่หาได้ยากอีกที่หนึ่ง จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแวะเข้ามาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย
การเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับวัดพระแก้วแต่จะถึงก่อน อยู่ทางด้านซ้ายของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภาคเหนือเชียงราย
-
4. วัดพระแก้ว
มาถึงครึ่งทางกันแล้วยังไม่เหนื่อยกันนะ มาลุยกันต่อกับวัดที่สี่ วัดนี้ก็เป็นวัดดังไม่แพ้วัดพระสิงห์ ถ้าจะเอ่ยถึง วัดพระแก้ว ทุกคนจะต้องคิดถึง วัดพระแก้ว(วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ตรงสนามหลวงปัจจุบันนี้ได้เป็นที่ประดิษฐานของ พระแก้วมรกต พระคู่บ้านคู่เมือง จะมีใครรู้บ้างว่า ก่อนที่ พระแก้วมรกต จะไปประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ให้ได้กราบสักการะนั้น
ได้ถูกค้นพบที่เชียงราย ที่ วัดรพะแก้วเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงราย เดิมทีนั้นมีชื่อว่า วัดป่าญะ ต่อมาเมื่อเกิดฟ้าผ่าลงมาที่พระเจดีย์ทำให้ได้พบพระแก้วมรกตที่ซ่อนอยู่ จึงได้มีการอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานอยู่ในหลาย ๆ เมือง สุดท้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นวัดจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดพระแก้วเชียงราย และทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งชาติ
มี 3 ที่ที่ต้องเข้าชมในวัดพระแก้วที่พลาดไม่ได้เลยคือ
- พระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเชียงรายนับถืออย่างมากชาวบ้านเรียกกันว่า “พระเจ้าล้านทอง”
- หอพระหยก เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือ พระหยกเชียงราย
- พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว จัดแสดงพระพุทธรูปที่สำคัญ รวมถึงศิลปะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
การเดินทาง เมื่อเดินทางมาถึงห้าแยกพ่อขุนเม็งรายให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสิงหไคล ตรงไปจนสุดทางถึงสามแยกให้เลี้ยวซ้ายไป 100 เมตร จะเห็นวัดอยู่ทางขวามือ
-
5. วัดงำเมือง
ผ่านไปสี่วัดแล้วมาถึงวัดที่ห้า วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่และมีความสำคัญอีกวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัดพระแก้ว ไม่ไกลกันสักเท่าไหร่ ขึ้นชื่อว่าเก่าแก่เรื่องความศักดิ์นั้นก็ต้องมีไม่มากก็น้อยล่ะ แต่ก่อนที่วัดนนี้มีแต่ กู่พญาเม็งราย(สถูปบรรจุพระอัฐิพระยาเม็งรายมหาราช) ตามประวัติเมื่อพญาเม็งรายได้เสด็จสวรรคต พระราชโอรสของพญามเม็งราย ได้จัดพิธีศพและอัญเชิญพระอัฐิของพญาเม็งรายมาประดิษฐานที่เชียงราย
ต่อมาก็ได้บูรณะและสร้างขึ้นเป็นวัดให้ชื่อว่า “วัดงำเมือง” โดย พระยาศรรัชฎาเงินทอง ดังนั้นที่วัดนี้นอกจากจะได้กราบพระแล้ว ยังสามารถมากราบสักการะพญาเม็งรายกันได้อีกที่ แนะนำให้ชมศิลปะการแกะสลักต้นมะพร้าวที่แกะสลักเกี่ยวกับพระราชประวัติของพ่อขุนเม็งรายเอาไว้ มีทั้งหมด 8 ต้น
ได้ความรู้ประวัติศาสตร์กลับไปด้วยคุ้มจริงๆ เสร็จจากวัดที่ห้า พักผ่อนกินข้าวเที่ยงกันก่อนเพิ่มพลังเพื่อไปต่อวัดที่หก
การเดินทาง จากวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาที่สี่แยกเข้า ถ. เรืองนคร ซึ่งเป็นวัยเวย์ ไปประมาณ 500 ม. จะไปบรรจบ ถ.งำเมือง เป็นสามแยกศูนย์คมนาคม จากนั้นเลี้ยวขวา ขับตรงขึ้นวัดประมาณ 300 เมตร
-
6. วัดพระธาตุจอมดอยทอง
พักกินข้าวกินน้ำกันเรียบร้อยแล้วมาต่อกันวัดที่หกเลย พูดถึงความเก่าแก่แล้วจังหวัดเชียงรายมีวัดเก่าแก่อยู่เยอะเลย อย่างวัดนี้ วัดพระธาตุดอยจอมทอง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนที่พ่อนขุนเม็งรายจะเข้ามา และเป็นปูชนียสถานหนึ่งในพระธาตุ 9 จอม ของสถานที่เป็นมงคลนามของจังหวัดเชียงราย
ตามประวัติในรัชสมัยของพญาเรือนแก้ว ได้รับ พระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพรสัมมาสัมพุทธเจ้า จาก พญาพังคราช ที่พระเถระชาวลังกาได้นำมาถวาย ส่วนหนึ่งได้นำมาบรรจุลงมหาสถูปบนดอย และให้ชื่อว่า พระธาตุดอยจอมทอง ทำให้เกิดพิธีสรงน้ำพระธาตุทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5เหนือ อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจของที่วัดนี้คือ เสาสะดือเมือง 108 หลัก
ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสิ่งที่รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพญาเม็งรายและเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระชนมยุครบห้ารอบ สร้างขึ้นในรูปแบบสมมุติของจักรวาลอันเป็นคติที่มีมาแต่โบราณ ที่ทุกปีจะมีการสรงน้ำเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวเมือง และเชื่อว่าน้ำที่สรงเสาสะดือเมืองแล้วเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
การเดินทาง จากห้าแยกพ่อขุนเม็งรายมหาราช เข้าถนนอุตรกิจไปจนถึงสี่แยกพหลโยธิน (สายใน) เลี้ยวขวาผ่านหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และสถานีตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสิงหไคล เลี้ยวซ้ายเข้าถนนไตรรัตน์ ผ่านวัดพระแก้ว เลี้ยวขวาผ่านโรงเรียนเชียงรายวิทยาคม เลี้ยวขวาอีกครั้งหนึ่งขึ้นดอยทองผ่านวัดงำเมืองไปประมาร ๓๕o เมตร ก็จะถึงปากทางขึ้นพระธาตุดอยจอมทอง
-
7. วัดมิ่งเมือง
เดินทางมาถึงวัดที่เจ็ดกันแล้วอย่าเพิ่งหมดแรงกันนะ ไปต่อกันกับ วัดมิ่งเมือง ซึ่งเป็นวัดที่เก่าแก่มากที่สุดของเชียงราย มีอายุมานานอยู่คู่กับเมื่อมีการเริ่มสร้างเมืองเชียงราย วัดนี้เป็นแหล่งที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีส่วนผสมผสานของศิลปะล้านนากับศิลปะพม่า โบราณสถานและโบราณวัตถุที่โดดเด่นสวยงาม
จะมี องค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์มีอายุถึง 400 กว่าปี, เจดีย์ เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่อยู่คู่มากับวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา, วิหาร ไทใหญ่ที่ประยุกต์ผสมผสมนกับศิลปะล้านนา และ บ่อน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า น้ำบ่อช้างมูบ เชื่อกันว่าบ่อน้ำนี้เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
การเดินทาง เริ่มที่ห้าแยกพ่อขุนเม็งรายฯ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีเกิด เลี้ยวขวาเข้าถนนธนาลัย ตรงไปเรื่อยๆ จะไปบรรจบที่ถนนไตรรัตน์ เลี้ยวซ้าย ไปอีก 50 เมตร วัดอยู่ทางขวามือ
-
8. วัดกลางเวียง
เข้าสู่วัดที่แปด เป็นวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของเมืองเชียงราย และยังเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองเชียงรายอีกด้วย นั่นก็คือ วัดกลางเวียง เดิมทีนั้นชื่อ วัดจันทน์โลกกลางเวียง แต่หลังจากเกิดพายุใหญ่พัดมาทำให้ พระอุโบสถและวิหารพังทลาย ต้นจันทน์แดงหักโค่น ต้องทำการบูรณะกันใหม่
ชื่อวัดจึงเหลือเพียงแค่ วัดกลางเวียง ปัจจุบันเนื่องจากเสาหลักเมืองเก่าได้ล้มไปนานแล้ว ดังนั้นจึงมีการสร้างเสาหลักเมือง(ศาลหลักเมือง)ขึ้นมาใหม่แทนของเดิม จะตั้งอยู่ที่เดิมโดยมีมณฑปครอบไว้
จะมีประเพณีไหว้สะดือเมือง(เสาหลักเมือง) ประจำทุกปีในเดือนแปดเข้าเดือนเก้า(เหนือ) ก่อนเข้าพรรษา นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเจดีย์ฐานช้างทรงเครื่องยืนรายล้อมและพระอุโบสถที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์
การเดินทาง จากห้าแยกพ่อขุน ใช้ถนนอุตรกิจ ตรงไปผ่าน 3 ไฟแดง วัดกลางเวียงอยู่ทางซ้ายมือ
-
9. วัดศรีเกิด
มาถึงวัดสุดท้ายกันแล้วสำหรับทริปนี้ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่มากอีกวัดหนึ่งจะไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักมาสักเท่าไหร่ แต่ชื่อวัดเป็นมงคลจึงได้นำมาใส่ในทริปนี้ด้วย วัดศรีเกิด เป็นวัดที่มีนามมงคลรวมถึงที่ตั้งมงคลอีกด้วย นามมงคลนั้นได้มาจาก ภายในวัดมีต้นสลีจำนวนมาก คำว่า “สลี” (สะ-หลี) เป็นภาษพื้นเมืองจากนั้นก็เพี้ยนมาเป็น “ศรี” เนื่องจากภาษท้องถิ่นไม่มีเสียง “ร”
ดังนั้นคำว่าศรีดังกล่าวจึงมาจากคำว่า “ศรีมหาโพธิ์” เพราฉะนั้น ต้นสลี ก็คือ ต้น ศรีมหาโพธ์นั่นเอง สลี หมายถึง เป็นสิริมงคล, ความรุ่งเรือง,ความสุกสว่าง ความเจริญ, ความงาม ที่ตั้งมงคลนั้น เพราะอยู่ในกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกของตัวเมือง เป็นทิศที่จะได้รับแสงอาทิตย์แรกของวันใหม่ ทำให้มีนัยยะที่ดี ถือเคล็ดได้ว่าเมื่อมากราบสักการะที่วัดนี้แล้ว มีแต่ความเป็นสิริมงคล รุ่งเรือง เจริญสุกใสเหมือนดังแสงแรกของพระอาทิตย์ยามเช้า
การเดินทาง จากห้าแยกพ่อขุนฯ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีเกิด ตรงไปตามถนนศรีเกิด วัดอยู่ทางขวามือ ก่อนเข้าถนนพหลโยธิน
เป็นอย่างไรกันบ้างกับทริปนี้ ไหว้พระ 9 วัด ในเมืองเชียงราย ภายใน 1 วัน เต็มอิ่มกับบุญ เพิ่มความเป็นสิริมงคลกับตัวเอง แล้วยังได้ความรู้ประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนของเมืองเชียงราย ความสวยงามของสถาปัตยกรรมล้านนาดั้งเดิมและประยุกต์ก็ไม่แพ้วัดดังๆ เช่นกัน