พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณืฉุกเฉินเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม - 30 เมษายน 2563 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ เผยว่า การดำเนินมาตรการต่าง ๆ ต้องความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้สามารถหยุดการแพร่ระบาด พร้อมกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนให้ได้ 

เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียว เพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจน และขจัดปัญหาการทำงานแบบต่างคนต่างทำของหน่วยงานต่างๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  

สำหรับข้อกำหนดต่างๆ เช่น การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง, การปิดสถานที่เสี่ยง ซึ่งปิดไปบ้างแล้ว, การปิดช่องทางเข้าประเทศ, การเสนอข้อพึงปฏิบัติสำหรับ ผู้สูงวัย คนป่วย และเด็ก, การห้ามกักตุนสินค้า,การขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผล การห้ามเสนอข่าวบิดเบือน จะมีการประกาศตามมา หลังจากที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว

ทั้งนี้ขอให้ทุกคนร่วมมือและเสียสละเพื่อส่วนรวม  ขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนเพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ขอให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมสื่อสารเฉพาะกิจ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ

เพื่อให้คนเหล่านั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้เช่นนี้ สื่อมวลชนจะเป็นกำลังสำคัญในการสู้กับภัยโควิด-19 ครั้งนี้ / นอกจากนี้ ขอเตือนกลุ่มคนที่จะฉวยโอกาส หาผลประโยชน์บนความทุกข์ร้อน ความเป็นความตายของประชาชน ให้รู้ไว้ว่า อย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไปได้

โดยจะทำทุกทาง ที่จะใช้กฏหมายจัดการกับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และไม่ปรานี ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมโรค จะเข้มข้นขึ้นมากทั่วประเทศ ทั้งการเอาผิดผู้ที่ละเมิดกฎหมายและการเอาผิดข้าราชการและเจ้าพนักงานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่

ซึ่งมั่นใจว่า เราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้ และในฐานะนายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเดินหน้าสุดความสามารถเพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด

สำหรับสาระสำคัญอำนาจตามกฎหมายของ "พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน" มีดังนี้

- นายกฯโดยความเห็นชอบของครม.มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือในบางเขตท้องที่ตามความจำเป็น

  • "กรณีเป็นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" นายกฯมีอำนาจออกข้อกำหนดดังนี้


(1) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

(2) ห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ

(3) ห้ามแพร่ข่าวที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิด

(4) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

(5) ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ

(6) ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

-"กรณีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" นายกฯมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย

  1. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใดๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง
  2. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัวหรือให้ถ้อยคำหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐานใดที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
  3. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดอาวุธ สินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ได้ใช้หรือจะใช้สิ่งนั้น เพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำให้เกิดเหตุการณ์สถานการณ์ฉุกเฉิน
  4. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็วและหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที
  5. ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆหรือสั่งให้กระทำการใดๆเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยของประชาชน
  6. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการออกไปนอกราชอาณาจักรจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประเทศ
  7. ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้โดยให้นำกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
  8. ประกาศให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งอาวุธ สินค้า เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งอาจใช้ในการก่อความไม่สงบหรือก่อการร้ายต้องรายงานหรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายกฯกำหนด
  9. ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจระงับเหตุการณ์ร้ายแรง หรือควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบโดยด่วน ทั้งนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ โดยการใช้อำนาจหน้าที่ขอฝ่ายทหารจะทำได้ในกรณีใดได้เพียงใด ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินกว่ากรณีที่มีการใช้กฎอัยการศึก

- ผู้ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ อาจมีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

- ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายเวลา ขยายได้เป็นคราวๆละไม่เกิน 3 เดือน

ข้อมูลจาก : Posttoday, INN

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life