สำนักงานประกันสังคม ได้ออกประกาศให้ผู้ประกันตนสามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำปีได้แล้ว หากมีเหตุจำเป็นไม่ได้รับความสะดวกในการไปรับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้ 

โดยการเปลี่ยนสถานพยาบาลดังกล่าว สามารถกระทำได้ตั้งแต่วันที่  16 ธันวาคม 2562 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 ซึ่งวิธีการขอเปลี่ยนสถานพยาบาลของผู้ประกันตน สามารถทำได้ดังนี้ 

  • แจ้งที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาทุกแห่ง
  • แจ้งเปลี่ยนรายการผ่านเว็บไซต์ประกันสังคม www.sso.go.th
  • ยื่นทำรายการผ่าน แอปพลิเคชัน SSO Connect

ทั้งนี้การเปลี่ยนสถานพยาบาล เป็นมาตรการหนึ่งของประกันสังคมที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนสามารถทำได้ปีละครั้งเท่านั้น โดยมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมกว่า 237 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐบาล 159 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 78 แห่ง ในการเข้าร่วมมาตรการนี้ ทั้งนี้มีข้อสงสัยสามารถโทรถามสายด่วนประกันสังคม 1506 

ขณะที่ขั้นตอนการขอเปลี่ยนสถานพยาบาล ทำได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ ได้แก่ 

  1. แจ้งฝ่ายบุคคลของบริษัท กรอกแบบฟอร์มขอเปลี่ยนสถานพยาบาล และให้ฝ่ายบุคคลดำเนินการให้
  2. แจ้งเปลี่ยนด้วยตัวเองผ่าน  www.sso.go.th ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องลงทะเบียนสมัครสมาชิกเข้าระบบก่อน เปลี่ยนสถานพยาบาล (กรอกข้อมูลส่วนตัว > ยืนยันตัวตน (OTP) > สำเร็จ)  จากนั้นกดล็อกอินตรงไอคอน “ผู้ประกันตน” กรอกรหัส พร้อมกับเลขบัตรประชาชนที่เราลงทะเบียนไว้ พอถึงหน้าตรวจสอบข้อมูลผู้ประกันตน จะพบกับรายละเอียดส่วนตัว เช่น ชื่อ-สกุล เลขบัตรประชาชน ตรงนี้สามารถเช็กโรงพยาบาลที่รับประกันสังคมเราได้ด้วย พร้อมกับระบุสถานะของผู้ประกันตน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ให้ตรวจสอบอีกจำนวนมาก 
  3. แจ้งเปลี่ยนผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect  มีรูปแบบคล้ายกับเว็บไซต์ เพียงแต่มาอยู่ในรูปของมือถือ ซึ่งผู้ประกันตนสามารถ ดาวน์โหลด SSO Connect บน App Store สำหรับ iOs และ ดาวน์โหลด SSO Connect บน Google Play สำหรับ Android

สำหรับ ประกันสังคม คือ กองทุนที่ให้หลักประกันแก่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งไม่เกิดจากการทำงาน รวมทั้งกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกหักจากเงินเดือน 3% เพื่อนำเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 

จากนั้นจะถูกนำไปบริหารโดยการลงทุน ทั้งในหลักทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน เงินฝาก และหลักทรัพย์ความเสี่ยงสูง เช่น หน่วยลงทุนผสม ตราสารหนี้ ตราสารทุนต่างประเทศ หน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และหุ้นสามัญ เป็นต้น

Author Image

Admin