เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ผู้สื่อข่าวได้ติดตามแรงงานชาวพม่าลงพื้นที่สำรวจจุดลักลอบเข้าเมืองบริเวณแม่น้ำสาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้รับแจ้งว่า ขณะนี้แรงงานข้ามชาติได้ทยอยเดินทางกลับเข้ามาหางานทำประเทศไทย ภายหลังจากที่แห่กลับภูมิลำเนาเมื่อ 3 เดือนก่อนในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจุดแรกที่ทำการสำรวจคือยบ้านเหมืองแดง ต.แม่สาย อ.แม่สาย ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีแม่น้ำสายกั้นพรมแดน แต่เนื่องจากแม่น้ำแคบและมีน้ำไม่มาก ทำให้สามารถเดินข้ามได้โดยง่าย แม้ฝั่งพม่าจะมีกำแพงกั้นสูง แต่ก็มีประตูสำหรับออกสู่แม่น้ำ ขณะที่ฝั่งไทยเป็นสวนกล้วยและผืนนา
“ตอนนี้มีแรงงานจากฝั่งพม่าอพยพข้ามมาแล้วนับพันคนตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้น เพราะมีนายหน้าจัดหาแรงงานชาวพม่าไปป่าวประกาศว่าอีกไม่นานฝั่งไทยจะเปิดให้ทำงานเป็นปกติ ทำให้แรงงานต่างอยากกลับเข้ามาหางานทำในไทย พวกเขาเสียค่าหัวให้กับนายหน้าฝั่งพม่าที่พามาส่งที่ช่องทางธรรมชาติริมแม่น้ำสายหัวละ 3,500 บาท และเสียให้นายหน้าฝั่งไทยอีกหัวละ 5,000 บาทเพื่อพาไปส่งที่เมืองเชียงราย” แรงงานชาวพม่า กล่าว
อีกจุดหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวได้ไปสำรวจคือบริเวณริมแม่น้ำสายบ้านป่าซางงาม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ซึ่งบริเวณดังกล่าวแม่จะอยู่ใกล้ค่ายทหารและมีการวางลวดหนามกั้นเป็นแนวยาวอยู่ริมถนนที่ขนานอยู่กับแม่น้ำสาย แต่ก็ได้มีการเว้นวรรคลวดหนามในหลายช่วงเพื่อให้ชาวบ้านลงไปทำนาและทำสวนที่อยู่ติดกับแม่น้ำสายจึงกลายเป็นช่องทางให้แรงงานพม่าข้ามเข้ามาโดยง่ายซึ่งสามารถมองสังเกตเห็นเส้นทางลักลอบเข้าไทยจากฝั่งพม่าที่เดินลงสู่แม่น้ำได้ชัดเจน
“แรงงานเข้ามาจุดนี้มากกว่า เพราะข้ามง่าย ตอนนี้แรงงานที่ทยอยกลับเข้ามาจำนวนมากมีวีซ่าที่ยังไม่หมดอายุ เพราะตอนที่ออกไปก็ไม่ได้ประทับตราที่ ตม. เมื่อลักลอบเข้ามาได้ พวกเขาก็สามารถเดินทางไปหางานทำที่เดิมได้ ขณะนี้หลายคนมุ่งหน้าไปพัทยา เพราะเริ่มรับสมัครคนงานแล้ว” แรงงานชาวพม่า กล่าว
นายสนธยา รัตนวาณิชยกุล ประธานชมรมกรุณาจิตอาสา อ.แม่สาย กล่าวว่าภายหลังจากรัฐบาลปิดด่านเมื่อ 3 เดือนก่อนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดนั้น ปรากฏว่ามีแรงงานจากฝั่งพม่าตกค้างอยู่ในอำเภอแม่สายราว 3,000 ครอบครัวหรือประมาณ 7,000-8,000 คน โดยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในโรงงานและรับจ้างต่างๆ แต่เมื่อไม่มีงานทำจึงไม่มีรายได้และชีวิตต้องได้รับความลำบาก ซึ่งความช่วยเหลือของภาครัฐก็เข้าไม่ถึงเพราะหน่วยงานรัฐมุ่งเน้นแต่ช่วยเหลือคนไทย ดังนั้นทางชมรมจึงได้นำถุงยังชีพไปแจกจ่ายซึ่งก็พอช่วยประทังความเดือดต้อนได้บ้าง
“แรงงานข้ามชาติที่ตกค้างส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ที่ไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน มีเพียงหนังสือข้ามแดน คนกลุ่มนี้จึงไม่มีประกันสังคม เมื่อเจ็บป่วยก็ใช้ 30 บาทไม่ได้ สาเหตุที่พวกเขายังอยู่ในแม่สายเพราะมีความหวังว่าจะได้มีงานทำในเร็วๆ นี้ ผมเชื่อว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ หากพวกเขายังไม่มีงานทำอีกก็คงอยู่ไม่ไหวแล้วเพราะทั้งค่ากินและค่าเช่าบ้านแทบไม่เหลือแล้ว”นายสนธยา กล่าว
นายสนธยากล่าวว่า หากแรงงานกลุ่มนี้ต้องการเดินทางกลับพม่าก็สามารถทำได้เพราะได้มีข้อตกลงกันไว้กับรัฐบาลพม่าแค่เพียงมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นคนจากฝั่งพม่า เขาก็ยินดีรับกลับไป
“ที่กำลังเป็นปัญหาในตอนนี้คือเรื่องเด็กนักเรียนหัวศูนย์ ซึ่งเป็นเด็กที่ข้ามมาเรียนฝั่งไทย เกือบทั้งหมดเป็นเด็กไทใหญ่เพราะนิยมส่งลูกหลานมาเรียนโรงเรียนไทย แต่ตอนนี้ข้ามมาไม่ได้นับพันคนแม้โรงเรียนจะเปิดแล้ว เพราะมาตรการของจังหวัดเชียงรายคือก่อนหน้านี้ให้มีการตรวจและการกักตัว หากเข้ามาแล้วไม่ให้กลับไปอีก แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมแล้วกว่า 1 หมื่นบาท ทำให้แทบไม่มีใครมาตรวจ ตอนนี้เลยมีเด็กกลุ่มนี้ติดต่อมายังชมรมฯ เยอะ แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้เพราะต้องรอคำสั่งจากผู้ว่าฯ”นายสนธยา กล่าว
ด้านนายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กล่าวว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไม่มีนโยบายให้ความรู้และความช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติ จึงแทบไม่มีการแจกหน้ากากหรือเจลแอลกอฮอล์ โดยที่จังหวัดเชียงรายเห็นภาพนี้ชัดเจน เพราะแม้แต่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดก็ยังช่วยเหลือไม่ได้ เพราะงบประมาณถูกล็อคไว้ใช้สำหรับคนไทยเท่านั้น ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องอยู่กันอย่างแออัดเพราะต่างย้ายมาอยู่รวมกันเพื่อประหยัดค่าเช่า แต่ถือว่ายังโชคดีจากการสุ่มตรวจแรงงานข้ามชาติ 100 รายไม่พบว่ามีการติดเชื้อโควิด
“นโยบายของรัฐบาลมักตั้งอยู่บนฐานคิดว่าเขาคือคนไทยหรือไม่ เช่น คนที่ตรวจพบเชื้อที่ด่านสะเดา จ.สงขลา ก็รีบบอกว่าไม่ใช่คนไทย หรืออย่างแรงงานข้ามชาติ 3 พันคนที่เข้ามาก็ได้รับความหวาดระแวง ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะเปิดรับแรงงานข้ามชาติอีกหรือไม่ และจะบริหารอย่างไร ทั้งๆ ที่คลายล็อคเกือบหมดแล้ว ทุกวันนี้มีเพียงมาตรการสกัดกั้นไม่ให้เข้ามาเท่านั้น แต่ก็สกัดไม่ได้หมดเพราะพรมแดนอันยาวเหยียด ทำให้มีแรงงานข้ามชาติทยอยกลับเข้ามาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนและกลายเป็นปัญหาที่มุดดิน ยิ่งทำให้แก้ไขยาก” นายสืบสกุล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อเสนอแนะอย่างไรไปถึงรัฐบาล นายสืบสกุลกล่าวว่า 1.ต้องยอมรับก่อนว่า ประเทศไทยต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ใช่มีแต่ฐานคิดว่าคนเหล่านี้คือภัยด้านความมั่นคงและเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด เราต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน 2.ควรมีนโยบายส่งเสริมและเรียนรู้ในเรื่องพหุวันธรรม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุขร่วมกับคนไทย 3.ควรมีการยกเครื่องระบบการบริหารจัดการแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มีกระบวนการรองรับที่ชัดเจน เพราะเชื่อว่ามีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากที่ต้องการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย แต่ขณะนี้กลับยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ด้านนโยบายเลย
“ประเทศไทยควรมีกรอบความร่วมมือในการช่วยเหลือเพื่อนบ้านเรื่องโควิด เพราะเรามีระบบสาธารณสุขที่ดีและพร้อมกว่า ดังนั้นจึงควรมีความช่วยเหลือ เช่น การตั้งจุดตรวจในพื้นที่ชายแดน ซึ่งโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือมหาวิทยาลัย ต่างก็มีศักยภาพที่จะทำได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานข้ามชาติด้วย”นายสืบสกุล กล่าว
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิยดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรณีแรงงาน 3 สัญชาติ ตามแนวทางที่ผ่านมาได้มีการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 30 มิถุนายน และทั่วประเทศดำเนินการตามกระบวนการ ส่วนแรงงานที่เข้ามาตามข้อตกลงความร่วมมือซึ่งจะครบ 4 ปี และมติครม.ขยายออกไปถึง 31 กรกฎาคม โดยจะประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้มีการประเมินความต้องการใช้แรงงานและจำนวนคนที่ต้องการทำงานบ้างหรือไม่ว่าเป็นอย่างไร นายสุชาติกล่าวว่าได้มีการประชุมและหารือเรื่องนี้กันอยู่เสมอ แต่ตอนนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนนายจ้างและถูกเลิกจ้าง ซึ่งแนวทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุดคือเอาคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการจ้างงานให้เร็วสุด ขณะเดียวกันตนได้เดินทางไปหารือกับทูตพม่าประจำประเทศไทยเพื่อหารือกันถึงเรื่องนี้
เมื่อถามว่าจะใช้โอกาสวิกฤตโควิดปฎิรูประบบแรงงานต่างด้าวหรือไม่ อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า เราดูกลไกกันเสมอ ผ่านกระบวนการทางกฎหมายเพื่อแก้ไขให้รวดเร็วขึ้นและได้มีการประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ร่วมกัน 3 ประเทศคือ พม่า กับพูชาและลาว เพื่อที่จะทำงานร่วมกันและแก้ไขปัญหารายละเอียดต่างๆ รวมถึงกระบวนการจ้างงานตามแนวชายแดนให้กระชับขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการดูแลแรงงานต่างด้าวอย่างไรเพื่อให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดของโควิดในกลุ่มนี้ นายสุชาติกล่าวว่า จริงๆแล้วกระทรวงแรงงานอยู่ปลายน้ำ ส่วนต้นทางต้องดูว่าเรามีมาตรการสกัดกั้นอย่างไร เพราะเรามีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านยาวจึงอาจมีการหลุดรอดเข้ามาบ้าง ดังนั้นทุกภาคส่วนคงต้องช่วยกันดูแล
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 8 กรกฎาคม นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอแม่สาย ได้มีหนังสือเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ อาทิ ตม. ชุดปฎิติบัติการตชด. ตำรวจ สภ.แม่สาย รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ชายแดน เข้าร่วมประชุมเนื่องจากมีขบวนการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเขาไทยโดยผ่านช่องทางธรรมชาติโดยมีผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านรู้เห็นและเรียกรับผลประโยชน์ซึ่งอาจส่งผลให้โควิดกลับมาระบาดเพราะแรงงานเหล่านี้ไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง
ข้อมูลจาก : สยามรัฐ