“มือชา” หนึ่งในปัญหายอดฮิตของชาวออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศเป็นเวลานาน โดยไม่มีการขยับเขยือนไปไหน พบบ่อยที่บริเวณข้อมือ สาเหตุมาจากการที่ข้อมืออยู่ในท่าแอ่นเป็นเวลานาน หรือ งอนาน ๆ เช่น การคลิกเม้าส์หรือการพิมพ์งาน เป็นต้น ทำให้เกิดอาการมือชามากกว่าคนทั่วไป 

อาการมือชาเกิดจากการที่เส้นประสาทที่ผาดผ่านบริเวณข้อมือถูกกดทับ โดยเส้นประสาทนี้จะผ่านแขนไปยังมือ เพื่อไปรับความรู้สึกบริเวณมือ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดท่อนแขนหรือต้นแขนร่วมด้วย บางคนมีอาการมืออ่อนแรง ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ เพราะว่ากล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วแม่มือแฟบลง ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 30-60 ปี

หากเกิดอาการมือชานาน ๆ ครั้ง และครั้งละไม่เกินนาทีก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะอาจเกิดจากการที่ขาดเลือดหล่อเลี้ยงเป็นเวลาชั่วคราว แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนไม่สามารถใช้มือได้ตามปกติ ก็แสดงว่าเส้นประสาทที่ใช้ควบคุมมือและนิ้วมือมีปัญหา ควรรีบเข้าพบแพทย์ด่วน

อาการมือชาแต่ละจุด มันมีสาเหตุ

เกิดจากการที่เส้นประสาทที่ใช้ควบคุมการทำงานของนิ้วมือและเส้นเลือดถูกกดทับจากปัญหาต่าง ๆ จนทำให้ได้รับความเสียหาย หรืออาจมาจากการเจ็บป่วย เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง HIV โรคซิฟิลิส โรคหลอดเลือดอักเสบ หากรู้สึกปวดมากหรือปวดเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

  • ชาบริเวณนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วโป้ง เกิดจากเส้นประสาทข้อมือหรือโรคเกี่ยวกับกระดูกคอทับเส้นประสาท
  • ชาบริเวณนิ้วนางและนิ้วก้อย เกิดจากการกดทับเส้นประสาทอัลนาร์
  • ชาบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้า เกิดจากโรคเบาหวาน เนื่องจากมีน้ำตาลสูงเกิน
  • ชาตามมือและนิ้วมือ ปวดแสบร้อนตามกระดูกและข้อ เกิดจากโรคเก๊าท์หรือโรครูมาตอยด์

อาการชาของโรคปลายประสาทอักเสบ

  • เหน็บชา บริเวณปลายมือ หรือมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณปลายมือ
  • ปลายมือไม่สามารถรู้สึกร้อนหรือเย็นได้ รู้สึกเจ็บแม้จะแตะแค่เบาๆ
  • หากปล่อยไว้นาน มือจะอ่อนแรง ไม่มีกำลังที่จะหยิบจับสิ่งของ พอจับก็ร่วง จนถึงขั้นกล้ามเนื้อฝ่ามือลีบในที่สุด

ระยะของอาการมือชา

ระยะที่ 1 – เริ่มมีอาการชาที่ฝ่ามือและนิ้วมือขณะที่กำลังใช้มือทำงาน
ระยะที่ 2 - มือชาจนเป็นเหน็บขณะไม่ได้ใช้มือทำงาน และปวดกลางดึกจนต้องตื่นขึ้นมานวดฝ่ามือฃ
ระยะที่ 3 - หากไม่ปล่อยไว้นาน มือจะเกิดอาการอ่อนแรง ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อมือฝ่อลีบ

ขั้นตอนการทดสอบอาการมือชา (Phalen’s test)

ให้งอข้อมือ 90 องศาเป็นเวลา 1 นาที ถ้าพบว่ามีอาการชาหรืออาการปวดบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

วิธีการรักษาอาการมือชา

• อาการไม่ได้หนักมาก สามารถรักษาด้วยตัวเองได้ดังนี้

- ประคบร้อนบริเวณที่เกิดอาการชา เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น หากมีอาการบวมหรืออักเสบ ให้ทำการประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการแทน
- พยายามยืดเส้นยืดสายด้วยการขยับมือบ่อยๆ ร่วมกับการสะบัดข้อมือ หมุนแขน หมุนไหล่ เพื่อให้เส้นประสาทไม่เกิดการกดทับ
- พยายามไม่เคลื่อนไหวข้อมือมากเกินไป รวมถึงการใช้ข้อมือทำกิจกรรมที่ค่อนข้างหนักหน่วง เช่น การยกของหนักๆ การจับ หรือการกำอะไรนานๆ

• อาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นเรื้อรังมาเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์ทันที

- แพทย์อาจให้ทานยารักษาการอักเสบของเส้นเอ็นและเส้นประสาท ที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หากไม่ดีขึ้น อาจทำการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในเส้นเลือด
- ทำการผ่าตัด หากพบว่ามีอะไรบางอย่างกดเส้นประสาทอยู่หรือยาทั่วไปไม่สามารถรักษาได้
- อาจใช้วิธีการฝังเข็มแบบจีน หรือใส่เฝือกในระยะสั้นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวคนไข้และแพทย์ผู้รักษา

วิธีป้องกันอาการมือชาในออฟฟิศ

  • พยายามเปลี่ยนอริยบถทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวจากการเกร็งอยู่นาน
  • เพิ่มความสะดวกสบายให้กับนิ้วมือและข้อมือมากขึ้น เช่น หาหมอนรองข้อมือตอนพิมพ์งาน หรือหากแป้นพิมพ์แข็งเกินไปก็ควรหาแป้นพิมพ์ใหม่ที่พิมพ์ง่ายกว่าเดิม เพื่อจะได้ไม่ต้องออกแรงมากเกินไป
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมากเกินไป
  • บริหารข้อมือและนิ้วมืออยู่เป็นประจำ เพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของคุณ
  • นั่งทำงานด้วยท่าที่ถูกต้อง คือท่านั่งหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้และไม่นั่งไขว้ห้าง
  • ปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้เหมาะสม นั่งสบาย กึ่งกลางของจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในระดับสายตาพอดี
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ เนื่องจากในเนื้อสัตว์ ไข่ หรือนม มีโคบาลามินหรือวิตามิน B12

วิธีการบริหารมือ

ท่าที่ 1 – กระดกข้อมือขึ้นและลง สลับกัน 20 ครั้ง
ท่าที่ 2 – งอนิ้วมือส่วนปลายทำสลับกัน 20 ครั้ง
ท่าที่ 3 - กางนิ้วและหุบนิ้วทำสลับกัน 20 ครั้ง
ท่าที่ 4 – จับหลังมือข้างที่ต้องการจะยืดแล้วค่อยๆ กดหลังมือลงช้าๆ สลับมือ โดยเลื่อนมือมาจับบริเวณนิ้วมือทั้ง 4 นิ้วของมือข้างที่ต้องการจะยืดแล้วค่อยๆ ยืดในทิศทางที่ข้อมือกระดกขึ้น ทำสลับกัน 20 ครั้ง
ท่าที่ 5 - กำลูกบอลทำสลับกัน 20 ครั้ง

ข้อมูลจาก : Honestdocs, Facebook เรื่องชาอย่าปล่อยให้ชิน

Author Image

Admin