รู้หรือไม่?? เงินประกันสังคมสามารถรับคืนได้สูงสุดเกือบแสน
หลาย ๆ ท่านที่ได้ทำประกันสังคมกันไว้อาจจะไม่ทราบถึงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มากนัก บางครั้งบางท่านอาจจะพลาดสิทธิประโยชน์บางอย่างไป วันนี้ขอบอกว่าท่านอย่าได้ทิ้งเงินก้อนใหญ่ เพราะประกันสังคมนั้นมีเงินคืนให้กับผู้ประกันตนด้วย แต่ต้องตรงกับเงื่อนไขการรับเงินคืน ซึ่งขอบอกเลยว่าบางท่านนั้นได้รับเกือบแสนกันเลยทีเดียว
ในการทำงานกับหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท ห้างร้านใด ๆ ก็ตามที่ได้รับเงินเดือน ต้องมีการหักเงินสมทบเพื่อเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายซึ่งในปัจจุบันของไทยเรียกเก็บอยู่ที่ 5% ของค่าจ้างแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 1 ส่วน ใน 3 ส่วน หรือที่เรียกกันว่าไตรภาคี ซึ่งจะประกอบไปด้วย รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง
เรามาดูกันว่าเงินที่หักสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 750 แบ่งส่วนอย่างไรบ้าง
1. 225 บาท สำหรับดูแลเรื่องเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร ถ้าไม่ใช้สิทธิ เงินส่วนนี้ถือว่า ทำบุญร่วมกันเป็นการเฉลี่ยทุกข์-เฉลี่ยสุข
2. 75 บาท สำหรับใช้ประกันการว่างงาน หากออกจากงาน สามารถมาขึ้นทะเบียนเพื่อของรับเงินตัวนี้ได้ซึ่งการขึ้นทะเบียนจะต้องขึ้นภายในสามสิบวันนับจากวันที่นายจ้างแจ้งออกกับทางระบบ การลาออกจะได้เงินชดเชย 30% ของค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดในการทำงาน
3. 450 บาท จะเก็บไว้เป็นเงินออม จะได้รับทุกคนเมื่ออายุเข้าเงื่อนไขคือ 55 ปี และสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน โดยจะได้รับอยู่ 2 แบบคือ บำเหน็จ หรือบำนาญชราภาพ
เงื่อนไขการรับเงินคืนจากประกันสังคม
1. หากนำส่งเงินสมทบไม่ครบ 1 ปี จะได้ในส่วนที่ตนเองออมทั้งหมดไม่รวมดอกผล เช่น นำส่งเดือนละ 750 บาท (จะหักเป็นเงินออม 450 บาท) เมื่ออายุครบ 55 ปี จะได้รับเงิน 450 x 10 = 4,500 บาท
2. จ่ายเกิน 1 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี จะได้รับเงินในส่วนที่ ตัวเองถูกหักไว้และส่วนที่นายจ้างสมทบให้ แล้วยังได้ดอกผลที่ทางรัฐบาลให้อีกด้วย เช่น นำส่งเงินสมทบ 7 ปี (84 เดือน) จะได้รับเงินคือ 450 (ตัวเองจ่าย) + 450 (นายจ้างจ่าย) x 84 เดือน = 75,600 บาท ยังไม่รวมดอกผลจากรัฐบาล
3. จ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปีขึ้นไป ได้รับเป็นรายเดือน เรียกว่า “บำนาญชราภาพ”
กรณีสมทบครบ 15 ปี พอดี
จะได้รับเงินรายเดือน คือ 20% ของฐานเงินเดือนเฉลี่ยย้อนหลัง 60 เดือนสุดท้าย เช่น เมื่อเฉลี่ยแล้วได้อัตราสูงสุดคือ 15,000 บาท จะได้รับ 20% คือเดือนละ 3,000 บาท ไปจนเสีย
กรณีสมทบมากกว่า 15 ปี
ฐานการคิดคำนวณจะใช้เท่ากันที่ 20% แต่ในทุกๆ 12 งวดที่เกินมาจะได้เงินสมทบเพิ่มไปอีก 1.5% เช่นกรณีที่ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่อเฉลี่ยเงินย้อนหลัง 60 เดือนได้ 15,000 บาท วิธีการคิดเงินบำนาญชราภาพที่ถูกต้องคือ
– 20 ปี (จำนวนปีที่นำส่งทั้งหมด) – 15 ปี (จำนวนปีตั้งต้นรับเงินบำนาญชราภาพ) = 5 ปี
– นำเอาจำนวน 5 ปี (จำนวนปีที่เกิน) x 1.5 (จำนวน % ที่จะเพิ่มขึ้นให้) = 7.5%
– นำเอาจำนวน 7.5% (จำนวน % ที่เพิ่มขึ้น) + 20 (จำนวน % ที่ตั้งต้นไว้) = 27.5%
– นำเอาจำนวน 27.5% (จำนวน % ที่ได้ทั้งหมด) x 15,000 บาท (จำนวนเงินเฉลี่ย 60 เดือนย้อนหลัง) = 4,125 บาท
ซึ่งคือจำนวนเงินที่จะได้ไปตลอดชีวิต กรณีที่เสียขณะยังรับเงินชราภาพไม่ครบ 5 ปี จะได้ 10 ของเงินเดือนที่ได้รับ คือ 4,125 บาท เท่ากับ 41,250 บาท
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานประกันสังคม