เปิดตำนานพุทธศิลป์แห่งเมืองล้านนา “วัดพระแก้ว”
“วัดพระแก้ว” เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองที่อยู่กันมาตั้งแต่อดีตกาลของชาวเชียงราย เดิมมีชื่อว่า ‘วัดป่าเยียะหรือป่าญะ’ เนื่องจากมีไม้เยียะซึ่งเป็นไม้ไผ่ที่ใช้นำมาทำเป็นคันธนูและหน้าไม้เป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ.1977 ได้เกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าขึ้นที่องค์พระเจดีย์และทำให้พบกับพระพุทธรูปที่ทำมาจากแก้วมรกตอันเป็นที่เลื่องลือเป็นอย่างมากจนทำให้ผู้คนเรียกวัดนี้ว่า ‘วัดพระแก้ว’
ต่อมาพระเจ้าสามฝั่งแก่น ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ก็ได้ทำการอัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังเมืองต่าง ๆ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และในปี พ.ศ. 2321 ได้ย้ายมายังกรุงรัตนโกสินทร์ หรือที่เรียกกันในตอนนี้ว่ากรุงเทพมหานคร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
วัดพระแก้วนั้นมีศิลปะในการสร้างแบบศิลปะของชาวล้านนา ในปี พ.ศ.2533 คณะสงฆ์เชียงรายได้จัดสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิราบฐานเขียงด้วยหยกที่มีขนาดใกล้เคียงกับพระแก้วมรกต เนื่องในโอกาสสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษาและเพื่อเป็นการรำลึกว่าวัดพระแก้วแห่งนี้ได้เคยค้นพบพระแก้วมรกตมาก่อน เมื่อสร้างเสร็จก็มีการพระราชทานชื่อพระพุทธรูปหยกองค์นี้ว่า ‘พระพุทธรตนากรนวุตติวัสสานุสรณ์มงคล’ หรือ ‘พระหยกเชียงราย’
พระอุโบสถ
ใครมาถึงวัดพระแก้วแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มาแวะสักการะ ‘พระเจ้าล้านทอง’ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงประมาณ 2.80 เมตร พระประธานประจำหอคำอาคารทรงล้านนาโบราณ เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ได้อิทธิพลมาจากศิลปะปาละที่ใหญ่ ขึ้นชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งพระเจ้าล้านทองเป็นเหมือนกับพระคู่บ้านคู่เมืองของเชียงราย และเป็นที่เคารพนับถืออย่างมากกับเพื่อนบ้านจังหวัดใกล้เคียง ก่อนหน้านั้นพระเจ้าล้านทองได้มีการประดิษฐานไว้ที่วัดพระเจ้าล้านทอง ต่อมาไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ ชาวเชียงรายจึงได้อัญเชิญพระเจ้าล้านทองมาประดิษฐานไว้ที่วัดดอยงำเมือง และในปี พ.ศ.2504 ก็ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงรายจนถึงปัจจุบัน
หอพระหยก
อาคารไม้ทรงล้านนาโบราณ ภายในอาคารได้ทำการประดิษฐาน ‘พระพุทธรตนากรนวุตติวัสสานุสรณ์มงคล’ หรือ ‘พระหยกเชียงราย’ โดยมีการประดิษฐานไว้ในบุษบกที่ทำมาจากไม้แกะสลักปิดทอง เรือนยอดบุษบกทำจากไม้สักสลักลวดลาย ลงรักปิดทองประดับกระจก มีฉัตร 7 ชั้นที่ทำมาจากเงินแท้ลงรักปิดทอง
ภายในตัวหอพระหยกตกแต่งด้วยแผ่นหยก และประดับด้วยภาพวาดฝีมือของช่างชาวล้านนา ที่วาดขึ้นด้วยแรงศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนา ซึ่งภาพทั้งหมดเป็นภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์การสร้างพอพระหยก และประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต จำนวน 9 ภาพ ใต้ภาพวาดมีข้อความบรรยายโดยพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสของวัดพระแก้ว
พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว
แหล่งรวมแห่งการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแบบทันสมัย รูปแบบอาคารเป็นศิลปะแบบล้านนาประยุกต์ 2 ชั้น ผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนาและศิลปะอยุธยา ออกแบบโดยช่างชาวเชียงราย ตกแต่งด้วยไม้อัดสักทั้งภายนอกและภายใน
โดยมีคุณแม่อมรา มุนิกานนท์ (แสงแก้ว) เป็นผู้สนับสนุนการก่อสร้าง เป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงศิลปวัตถุของทางวัดพระแก้วให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
โดยได้มีการรวบรวมศิลปะชิ้นสำคัญต่าง ๆ ไว้ เช่น พระพุทธศรีเชียงราย พระพุทธรูปอู่ทอง ตุง เครื่องสูงหรือเครื่องเกียรติยศ เครื่องเงินล้านนา ธรรมาสน์หรืออาสนะของพระภิกษุขณะนั่งแสดงธรรม วัตถุโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ พระบรมรูปองค์จำลองพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระหยก หรือ พระแก้วจำลอง ที่แกะมาจากหยกประเทศพม่า พระพุทธรูปไม้ปางลีลา ตู้รับบริจาคพญาหงส์ทอง พระอุปคุต ฐานพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ฆ้องกบ หรือ มโหระทึก ถางประทีป หรือภาชนะเคลือบ พระเจ้า 5 พระองค์ในชาดกเรื่องกาเผือก พระโปรดสัตว์ปางอุ้มบาตร โก่งคิ้ว พระล้านนาที่หล่อมาจากโลหะเป็นต้น
นอกจากนี้บริเวณด้านหน้าของหอพระหยก ยังมีสระน้ำเลี้ยงเต่าอยู่เป็นจำนวนมาก มักจะมีนักท่องเที่ยวและเด็ก ๆ แวะเวียนกันมาให้อาหารเต่าที่นี่
วัตถุมงคลวัดพระแก้วเชียงราย
วัตถุมงคลน่าสักการะประจำวัดพระแก้วเชียงราย
- กำไล/แหวนหยก
- ข้อมือหยก
- พระกริ่งธรรมราชา เนื้อเงิน
- พระเชียงแสน 1 นิ้ว
- พระเชียงแสนสิงหฺ์หนึ่ง 9 นิ้ว
- พระหยกสิงห์สาม 5 นิ้ว
- พระเชียงแสนสิงห์สาม 5 นิ้ว
- พระเชียงแสนสิงห์หนึ่ง 9 นิ้ว
- พระแก้วมรกตแขวนรถ
- พระแก้วมรกตผงหยก
- พระแก้วมรกตเรซิ่น 1 นิ้ว
- พระเชียงแสนสิงห์หนึ่ง 1 นิ้ว
- เชียงแสนสิงห์หนึ่ง 3 นิ้ว
- พ่อขุนเม็งราย 15.5 นิ้ว
- ใบโพธิ์พระแก้วหยกแขวนหน้ารถ
- พ่อขุนเม็งรายแขวนหน้ารถ
- พระแก้วมรกตไมครอน
- เหรียญพ่อขุนเม็งราย
- พ่อขุนเม็งรายมหาราช
วิธีในการเดินทางไปวัดพระแก้ว
เมื่อขับรถมาถึงห้าแยกพ่อขุนเม็งรายตรงกลางตัวเมืองของเชียงรายให้เลี้ยวซ้ายแล้วตรงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงสุดสามแยกแล้วให้เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 100 เมตร จะเห็นวัดพระแก้วเชียงรายอยู่ทางขวามือ
ที่อยู่ : เลขที่ 19 ม.1 ถ.ไตรรัตน์ ใกล้กับศาลากลางจังหวัด ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
สำนักงานวัด : โทร. 053-711385
พระทศพล ลกฺขสวณฺโณ โทร. 082-0265667
สำนักงานเจ้าคณะภาค 6 : พระครูศรีรัตนากร (เลขานุการ) โทร. 089-8513530
Email : [email protected]
ข้อมูลบางส่วนจาก : watphrakaew-chiangrai