เมื่อเงินไม่ใช่ทุกอย่าง..แต่ทำอย่างไรให้คนทำงานกับองค์กรยาว ๆ
เมื่อวันเวลาผ่านไป อะไรหลายๆ อย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับกาลเวลา สมัยก่อนคนส่วนใหญ่มักจะทำงานอยู่กับองค์กรใดองค์หนึ่งเป็นเวลานาน หากไม่มีความจำเป็นก็จะไม่ลาออกและอยู่ไปจนถึงเวลาเกษียณ ซึ่งต่างจากในยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่นิยมลาออกจากงานบ่อยครั้งด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น
เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ไม่สามารถทำงานตามความคิดของตนเองได้ งานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต เป็นต้น ทำให้องค์กรต้องเสียเงินไปกับการหาลูกจ้างใหม่และต้องมีการเริ่มสอนงานใหม่อยู่เสมอ ดังนั้นองค์กรสมัยนี้จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและทัศนคติในการทำงานใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันและเพื่อเป็นการดึงลูกจ้างให้ทำงานอยู่กับองค์กรไปนานๆ
ทำงานเป็นระบบ โครงสร้างองค์กรต้องชัดเจน
ปัญหานี้มักจะเกิดในบริษัทประเภท SME ซึ่งเป็นบริษัทขนาดเล็ก และไม่มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน เวลาที่มีพนักงานใหม่เข้ามา มักจะไม่มีหน้าที่ที่ชัดเจนในการทำงาน ส่วนใหญ่ต้องทำงานในแนว Multi-function ที่ไม่ว่าคุณจะทำตำแหน่งอะไร แต่เมื่อบอสสั่ง คุณต้องสามารถทำได้ทุกอย่าง
ทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับตนเอง และต้องการทำงานตามหน้าที่ตามตำแหน่งที่ตนเองได้รับเท่านั้น องค์กรจึงควรสร้างระบบและหน้าที่ในการทำงานที่ชัดเจน มีการสื่อสารสั่งงานที่ชัดเจน เช่น ทำหน้าที่อะไร รายละเอียดเป็นแบบไหน ส่งงานวันไหน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบต่อตัวพนักงานและตัวบริษัทเอง
ทัศนคติในการทำงานที่ตรงกัน
มีหลายครั้งที่เราทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน เพราะว่าความเห็นไม่ตรงกันเสมอ เป็นเรื่องยากที่คนจากร้อยพ่อพันแม่จะมีความคิดเห็นที่ตรงกันแม้แต่เรื่องการทำงาน สิ่งที่สำคัญในการคัดคนเข้าทำงานก็คือต้องหาคนที่มีทัศนคติที่ใกล้กับที่องค์กรต้องการมากที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดการแตกแยกกันเองในบริษัท ส่งผลให้ทำงานออกมาล่าช้า งานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร และสร้างความเสียหายให้กับบริษัทได้
เพื่อนร่วมงานที่ดี บรรยากาศองค์กรที่เป็นมิตร
นอกจากในเรื่องของงานแล้ว สิ่งแวดล้อมในการทำงานอย่าง ‘เพื่อนร่วมงาน’ ก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานเช่นกัน บรรยากาศองค์กรที่ไม่ดูเคร่งเครียดจนมากเกินไป เป็นมิตร และเปิดกว้าง ทำให้คนอยากเข้ามาทำงานในองค์กรมากยิ่งขึ้น เพราะรู้สึกว่าไม่ได้มาแล้วรู้สึกกดดันจนทำให้ไม่มีความสุขในชีวิต ถ้าหากว่ามาทำงานแล้วเจอแต่เพื่อนร่วมงานที่นิสัยไม่ดี เช่น ชอบโยนงานให้คนอื่นทำ ชิงดีชิงเด่น ชอบนินทาเพื่อนร่วมงาน ใส่ร้ายป้ายสีคนอื่น ก็จะทำให้เพื่อนรว่วมงานคนอื่นไม่อยากทำงานด้วยและลาออกไปในที่สุด
ความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว
ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีใครที่อยากทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแน่นอน เมื่อถึงเวลางาน เราก็ทำงานอย่างเต็มที่ และเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ใช้ชีวิตส่วนตัวเสียที องค์กรจะต้องมีขีดจำกัดของเวลาในการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่พอถึงเวลาเลิกงานหรือวันหยุดก็จะสั่งงานให้ทำงานนอกเวลา
หากจำเป็นต้องทำงานนอกเวลาก็ควรให้เงินสำหรับค่าทำงานนอกเวลา และถามความสมัครใจของพนักงานก่อน ไม่ใช่ว่าเพราะเราทำงานให้บริษัทเลยต้องเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง แบบนั้นถือเป็นการเอาเปรียบพนักงาน ทำให้พนักงานหลายคนรู้สึกอยากลาออก เพราะต้องทำงานเกินเวลา เวลาในการพักผ่อนกลับต้องใช้ทำงาน ไม่มีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวเลย
ไม่ประเมินด้วย ‘ความรู้สึกส่วนตัว’
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนในที่ทำงานมักจะไม่ค่อยถูกกัน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนั้นถือเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัว เราไม่ควรใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาปนกับเรื่องงาน เช่น หัวหน้างานชอบพนักงงานคนนี้ ไม่ว่าพนักงงานคนนี้จะเสนออะไรมาก็ผ่านไปหมด หรือพนักงานอีกคนหนึ่งที่หัวหน้าไม่ชอบเพราะความคิดขัดแย้งกันตลอด ไม่ว่าจะเสนองานอะไรมาก็ให้ไปแก้ใหม่หมด ในการทำงาน เราต้องใช้ความรู้สึกอย่างเป็น กลาง และใช้หลาย ๆ อย่างในการประกอบการตัดสินใจมากกว่าใช้อารมณ์
เปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็นและเสนอไอเดีย
ในการทำงานแต่ละครั้งมักจะมีการเสนอไอเดียมใหม่ๆ เกี่ยวกับงานเสมอ ทุกคนเองก็อยากจะเสนอความคิดในแบบของตัวเอง แน่นอนว่ามีทั้งดีและไม่ดี และที่สำคัญงานไอเดียที่เราทำมา ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้งานที่ตัวเองทำมาด้วยความตั้งใจต้องสูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ หากองค์กรเปิดโอกาสให้เราได้แสดงความคิดเห็น โดยไม่จำกัดกรอบความคิดของเรา ก็จะทำให้เรารู้สึกสนุกกับการมาทำงานมากขึ้นกว่าเดิม
สรุป
ไม่ว่าองค์กรใดๆ ก็ตาม ต่างก็มีปัญหาในแบบของตนเอง ทั้งการลาออกบ่อยครั้งของพนักงานหรือการมีปัญหาในการทำงาน แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับองค์แต่ละองค์กรในยุคนี้ก็คือการปรับตัวให้เข้ากับคนทำงานยุคใหม่ เพราะหากองค์กรไม่มีพนักงานในการทำงานก็จะไม่ใช่องค์กรหรือว่ามีการเข้าออกของพนักงานบ่อยๆ ก็จะทำให้องค์กรขาดความน่าเชื่อถือ เสียเวลา และเสียทรัพยากรในการทำงาน ดังนั้นองค์กรยุคใหม่ที่จะสามารถอยู่รอดได้ในยุคปัจจุบันจะต้องรู้จักการปรับตัวให้กับยุคปัจจุบันให้มากกว่าเดิม และต้องเปิดใจในรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำปัญหามาปรับปรุงและแก้ไข