สมัครงานครั้งแรก
‘ครั้งแรก’ คำๆ นี้ เป็นคำที่ต้องเจอเสมอ เมื่อคนๆนั้นกำลังออกไปเผชิญสิ่งแปลกใหม่ ที่ไม่เคยพบพบมาก่อนในชีวิต ‘ครั้งแรก’ ของแต่ละคน มีความต่างและบริบทการเกิดขึ้นที่ไม่เหมือนกัน ผลลัพธ์จึงแตกต่างกัน บ้างก็ประทับใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มีก็ไม่น้อยที่ไม่อยากให้ภาพจำเหตุการณ์ครั้งแรกย้อนกลับมาอีก และจุดนี้เองที่ก่อเกิดเป็นประสบการณ์ เปิดการเรียนรู้ ให้รู้จักเตรียมความพร้อมรับมือ ไม่ให้ความผิดพลาดในครั้งแรกกลับมาได้อีก
ประสบการณ์ครั้งแรกนั้นมีหลายแบบ แต่ที่มีความสำคัญและกำหนดชะตาชีวิตของคนคงไม่พ้นการสมัครงานครั้งแรก เพราะถือเป็นการปูทางวางรากฐานชีวิตในอนาคต และด้วยคำว่า สมัครงานครั้งแรก นี่เอง ที่ทำให้หลายคนเกิดความประหม่า มีคำถามขึ้นมามากมายในหัว เพราะไม่รู้จะจับต้นชนปลาย ลำดับความสำคัญอย่างไร เพื่อให้ได้งานที่ถูกจริตตรงใจ สามารถฝากอนาคตกับงานที่เลือกนั้นได้
ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้มีแค่นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะก้าวมาเผชิญชีวิต แต่รวมถึงคนที่ลาออก หรือแม้กระทั่งคนที่เพิ่งถูกเลิกจ้างมาหมาดๆ เพราะเหมือนเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หมด ในการไขว่คว้าโอกาสให้ได้งานที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
จะว่าไปสูตรสำเร็จของการสมัครงานไม่มีอะไรตายตัว เพราะไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้งานหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้สมัครนั้นๆ มีการเตรียมตัวเช็คความพร้อม รู้ตัวเองมาดีมากน้อยแค่ไหนต่างหาก และการไม่รู้จักตัวเองนี่แหละ จึงเป็นที่มาของการไปตรวจสอบดูตัวตนของตัวเอง ที่แท้จริงว่าหลงใหล ชอบทำอะไรแล้วมีควาสุข จากนั้นค่อยต่อยอดไปสู่การเลือกงานในฝันต่อไป
รู้จักตัวเอง รากฐานแห่งการดำเนินชีวิต
การตรวจสอบสำรวจตัวเอง คือการทำความเข้าใจรู้จักตัวตนอันแท้จริงว่ามีอุปนิสัยใจคอเป็นอย่างไร จุดเด่นไหนที่น่าสนใจ และจุดด้อยไหนบ้างที่ต้องแก้ไขปรับปรุง ซึ่งเรื่องนี้ตัวเราอาจจะให้คำตอบได้ไม่ดีเท่าบุคคลอื่น การสำรวจตัวเองจึงต้องอาศัยบุคคลที่ไว้ใจในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญ ตัวเราต้องเปิดใจให้กว้าง และยอมรับข้อบกพร่องในคำวิพาษ์นั้น เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวเราเอง อย่าลืมว่า คำตำหนิ คือขุมทรัพย์แห่งการพัฒนา เป็นกระจกเงาที่ส่องให้มองเห็นตัวตนของเรามากที่สุด
บางครั้งงานที่ชอบจริงๆ อาจจะไม่ใช่งานบริษัทหรือองค์กร แต่กลายเป็นงานที่เกิดจากความหลงใหลส่วนบุคคล เช่น บางคนชอบปลูกต้นไม้ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนทำเป็นอาชีพได้ หรือแม้กระทั่งบางคนชอบการเดินทางท่องเที่ยว ก็สามารถเก็บประสบการณ์เรื่องราวมาเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ โกยกำไรจากการโฆษณาได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายคนที่หันมาเอาดีด้านนี้กันอย่างเต็มตัว
เลือกที่ๆ เราถูกใจที่สุด
เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว คราวนี้ก็หันมามองว่ามีงานไหน บริษัทใดที่ตรงกับความต้องการของเราบ้าง จากนั้นก็พุ่งเป้าไปสมัครกันเลย แต่ก่อนอื่นต้องดูด้วยว่าบริษัทที่เราจะฝากชีวิตไว้นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง มีคุณค่าและให้อะไรกับชีวิตเรา และตัวเราเองจะไปทำประโยชน์ให้บริษัทนั้นอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าไปสัมภาษณ์หากจับผลัดจับผลูเราเป็นตัวเลือกของบริษัทในฝัน
การสำรวจบริษัทหรือองค์กรนี้ มีความสำคัญไม่แพ้การสำรวจตัวของเราเองเช่นกัน โดยสามารถทำความบริษัทจากประกาศบริษัท หรือข้อมูลทางเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียขององค์กร เพราะนี่คือหนทางแรกที่ได้ทำความรู้จักกับบ้านหลังใหม่ที่เรากำลังจะก้าวเท้าเข้าไปใช้ชีวิตร่วมอยู่ด้วย
นอกจากจะรู้ประวัติความเป็นมาแล้วยัง ทำให้ทราบถึงวัฒนธรรมองค์กร ทีมงานเพื่อนใหม่ในอนาคต เพื่อจะได้กลับมาประเมินดูว่า ตัวเราสามารถทำงานั้นๆ ได้จริงหรือไม่ หรือต้องเตรียมอะไรเพิ่มเติมบ้าง และพึงระลึกว่า สิ่งสำคัญในการเลือกสถานที่ทำงาน นอกจากความชอบความ และความฝันที่อยากทำงานกับบริษัทนั้นๆ แล้ว ผลตอบแทน และสวัสดิการ ก็ถือเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ อย่าลืมว่าการทำงานนอกจากความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่รักแล้ว รายได้ก็ถือว่าขาดไม่ได้เช่นกัน
รวมไปถึงเวลาเข้า--ออกงาน การเดินทาง และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ด้วย เพราะถ้ามีวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน คือ (วันเสาร์) กับเท่ากับว่า ความสุขของเราก็คูณสอง ทำให้เรามีเวลาให้กับครอบครัว มีเวลาส่วนตัว ได้ทำอะไรที่อยากทำมากขึ้นนั่นเอง
เลือกตำแหน่งเดียว แต่อย่าเลือกสมัครแค่ที่เดียว
เป็นเรื่องธรรมดาที่การสมัครงานครั้งแรก จุดประสงค์หลัก ก็คืออยากทำงานเร็วๆ จนนำไปสู่ความเชื่อผิดๆ ที่ว่า สมัครงานไปหลายๆ ตำแหน่ง จะช่วยให้ได้งานไวขึ้น แต่มันกลับไม่ใช่เลย แถมทำให้ผู้สมัครพลาดงานดีๆ ที่เหมาะสมกับตนเองไป แถมการทำลักษณะนี้ HR ไม่ปลื้มเพราะมันแสดงให้เห็น ถึงความไม่มั่นใจในตัวเองของผู้สมัคร ว่าแท้จริงแล้วจะสมัครงานในตำแหน่งไหนกันแน่
ดังนั้นเพื่อปิดโอกาสไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ ควรระบุตำแหน่งที่ชอบจริงๆ ในใบสมัคร จากนั้นก็ส่งเรซูเม่ ออกไปยังบริษัทที่ประกาศรับสมัครตำแหน่งที่เราต้องการไปสัก 4-5 บริษัท ก่อนจะทิ้งระยะเวลาราว 2 สัปดาห์เพื่อดูผล หากไม่มีการตอบกลับใด ๆ ค่อยมองหาตำแหน่งงานที่สนใจแล้วส่งเรซูเม่ใหม่ ที่สำคัญในใบสมัครงาน หรือเรซูเม่ ควรเป็นข้อมูลจริง ถูกต้องและเป็นตัวตนของตัวเองให้มากที่สุด
อย่าลืม!! การส่งใบสมัครงานไปแต่ละครั้ง ควรจดบันทึก เตือนความจำไว้ด้วย เพื่อที่ว่าจะได้ไม่สับสน และสะดวกเตือนความจำหากมีการเรียกสัมภาษณ์จากใบสมัครงานที่ส่งเข้าไป เข้าใจว่าการสมัครงานครั้งแรก จะดูเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ แต่ถ้าหากได้จัดระเบียบ เรียงลำดับความสำคัญตามขั้นตอน การสมัครครั้งแรกก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ข้อแนะนำดีๆ แบบนี้ หากไปปรับใช้ มันสามารถทำให้ได้งานที่ตั้งใจไว้ได้นะทุกคน