อนาคต เป็นเรื่องที่ฟังดูยากไปสักนิด ถ้ามีใครเดินมาถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น  เพราะความหมายก็บ่งชัดอยู่แล้ว ว่า อนาคต เป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง แต่มันก็ใช่ว่าจะไม่รู้เลย หากมีการวางแผน กำหนดเป้าหมายที่ดี เรื่องอนาคตก็สามารถทำนายว่าคุณจะเลือกเป็น เลือกใช้ชีวิตอย่างไร

ยิ่งเป็นการทำงานในอนาคตด้วยแล้ว จำต้องเริ่มการวางแผนกันแต่เนิ่น ๆ เพื่อจะได้เตรียมสำรวจตัวเอง ค้นหาความชอบความถนัดให้เจอ จากนั้นก็พุ่งเป้าไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ต่อยอดกำหนดเป็นอาชีพสร้างชีวิตให้ประสบความสำเร็จในอนาคตต่อไป เพราะงานคือชีวิต ชีวิตจะมีสุขได้มาจากงานที่ทำ

งานที่ดี แน่นอนต้องตอบโจทย์ความสุขของผู้ทำแล้ว ยังต้องเป็นงานที่สร้างรายได้ที่ดีอีกด้วย แต่ก็นั่นแหละ น้อยคนที่จะพบความสุขจากเรื่องทั้งสองที่เกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน การวางแผนเลือกอาชีพ จึงเป็นขั้นตอนที่จะผสานทั้งสองเรื่องให้เป็นหนึ่งเดียวได้ที่สุด

การเลือกอาชีพ หากจำไม่ผิดเกิดขึ้นในช่วงเรียนมัธยมปลาย เพราะชีวิตช่วงจังหวะนี้ เปรียบเหมือนหัวเลี้ยวหัวต่อ ให้แต่ละคนเลือกทางเดิน บ้างก็ขอฝึกทักษะปูพื้นฐานอาชีพด้วยการเลือกเรียนในโรงเรียนอาชีวะ

ขณะที่บางส่วนก็ขอลุยสร้างความรู้ด้วยการเรียนสายสามัญ ที่มีทั้งวิชาสายศิลป์, สายวิทย์- คณิต
จากนั้นค่อยต่อยอดสานฝันเลือกทางเดินใหม่ในระดับอุดมศึกษา เพราะมีหลากวิชา หลายแขนงให้เลือกเป็น เลือกทำ

การเลือกเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย จึงเปรียบเสมือนการปูทางวางรากฐานอนาคต เพราะนอกจากจะได้ศึกษาในสิ่งที่รักและหลงใหลแล้ว ยังมีสายงานรองรับ ช่วยการันตีมีงานแน่นอน แล้วเรียนอะไรดีละ ไม่ตกงานแถมเงินดีรายได้สูง ซึ่งจากคำถามตรงนี้แหละ ที่ทางเราจะพาไปหาคำตอบกัน

ปัจจุบันวิชาเรียนได้ผุดขึ้นใหม่ราวดอกเห็ด หลังบรรดามหาวิทยาลัย ต่างพาเหรดเข็นหลักสูตรเก๋ๆ ออกมาให้เลือกจำนวนมาก แต่วิชาเรียนที่ยังคงความนิยมเป็นที่ต้องการของนายจ้าง มีด้วยกัน 9 สาขา ที่เลือกเรียนแล้วไม่ตกงาน มีอาชีพมารอรับถึงหน้าประตู

วิศวกรรมซอฟต์แวร์

ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น การมีวิศวกรเพื่อที่จะควบคุม ตรวจหาข้อผิดพลาด และแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว  ตั้งแต่อยู่ในไลน์การผลิต จนถึงมือของลูกค้า จึงถือว่ามีความจำเป็น และเป็นที่ต้องการของตลาด อย่าลืมว่าเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปจนถึงเครื่องซักผ้า หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ล้วนมีซอฟต์แวร์เป็นองค์ประกอบสำคัญทั้งสิ้น

วิศวกรรมซอฟต์แวร์  เป็นการเรียนรู้แบบเจาะลึก เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ ตั้งแต่การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสร้างซอฟต์แวร์ และสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ ตามเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

ในประเทศไทยวิศวกรรมซอฟต์แวร์ เริ่มเปิดสอนที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็ทยอยเปิดสอนตามกันๆ  โดยปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขานี้ถึง 16  แห่งด้วยกัน อาทิ 

  • คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต
  • คณะสถิติประยุกต์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.ราชภัฏเพชรบุรี 
  • คณะเทคโนโลยีการอุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.ราชภัฏลำปาง
  • คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนยรังสิต
  • คณะวิทยาการสารสนเทศ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.บูรพา 
  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.พะเยา
  • สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.แม่ฟ้าหลวง
  • สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.ลัยลักษณ์ 
  • วิทยาลัยนานาชาติ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.กรุงเทพ
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.นอร์ท-เชียงใหม่
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ม.พายัพ

ส่วนคนเข้าเรียนในสายนี้ ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านคำนวนกันสักหน่อย เพราะตลาดการศึกษาต้องมีการคิดเลขบวก ลบ คูณ หาร รวมไปถึงการแก้สมการ ถอดสแควรูท และแคลคูลัสแน่ ที่สำคัญภาษาอังกฤษต้องได้ ต้องรู้เรื่องเพราะไม่อย่างนั้นอาจลำบากสื่อสารไม่เข้าได้  เพราะการจะเรียนสายนี้ต้องเป็นมาตรฐานสากล การมีความรู้ภาษาอังกฤษจึงมีสำคัญอย่างยิ่ง 

ฟังดูอาจจะยากไปสักนิด แต่คงไม่เกินความมานะพยายาม หากตั้งใจ  ใฝ่เรียนรู้  สู้จริงๆ  การเข้าเรียนสาขานี้คงจะไม่หนีไปไหน

วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

เป็นอีกสาขาวิชาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่ตลาดแรงงานในยุคปัจจุบันต้องการเป็นอย่างมาก เพราะมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ คงเคยได้ยินคำว่าไทยแลนด์ 4.0 มาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นอย่างไร

ไทยแลนด์ 4.0 คือ ยุคแห่งนวัตกรรม มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมหลากหลาย ทั้งการท่องเที่ยว การเกษตร อาหาร หุ่นยนต์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมทางการแพทย์  

การจะก้าวไปถึงจุดนั้นต้องมีเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นตัวขับเคลื่อน หากบอกว่าเทคโนโลยีคือตัวขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 การสร้างวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา ก็คือการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเช่นกัน เพราะพวกเขาคือผู้คิดค้นวงจรวงจรอิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ ที่เอาไว้คบคุมการทำงานของนวัตกรรมใหม่ ๆ นั่นเอง 


 
วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวงจรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการออกแบบ เขียนโปรแกรม เพื่อควบคุมวงจรอิเล็กทรอนิกส์ นำไปสู่การต่อยอดคิดค้น ผลิตอุปกรณ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ รวมถึงมีความเชียวชาญในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สามารถแก้ไขซ่อมแซม หากอุปกรณ์เกิดชำรุด-เสียหายขึ้น  

การจะเข้าศึกษาในหมวดสาขาวิชานี้ ก่อนอื่นต้องมีใจรัก และมีความรู้พื้นฐานในด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นทุนเดิม จากนั้นค่อยเพิ่มเติมเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์เข้าไป เพราะสิ่งเหล่านี้แหละ จะเป็นจุดกำเนิดของนวัตกรรมสุดล้ำในอนาคต ที่สำคัญผู้ที่สนใจเข้าเรียนต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ

  1. สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทย์ – คณิต
  2. สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
  3. สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า สาขาเทคโนโลยีโทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องมือวัดคุม

เท่านี้ ความฝันจะเป็นวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม 

ปัจจุบันนอกจาก 5 มหาวิทยาลัยดัง อย่าง

  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิคส์และโทรคมนาคม ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิคส์และโทรคมนาคม ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ม.สยาม
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

แล้วยังมีวิทยาลัยอีกหลายแห่งเปิดสอนสาขาวิชานี้เช่นกัน อาทิ 

  • สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตภาคขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตภาคสกลนคร
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น 

ใครมีความฝันอยากเปลี่ยนโลก ลองสำรวจตัวเองแล้วโดดมาเรียนสาขาดู เผื่อว่านวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น อาจมีชื่อเราเป็นผู้จารึกไว้ก็เป็นได้ 

วิศวกรรมเครื่องกล

เคยลองนับบ้างไหม ? มีของกี่ชิ้นในชีวิตประจำวันของเรา ที่มีเครื่องจักร กลไก เข้ามาเป็นส่วนประกอบ ถ้านึกไม่ออก ลองหลับตาคิดดู เชื่อได้ว่าไม่ถึง 10 วินาที จะมีเครื่องจักรกลไก ไหลเข้ามาในหัวแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ชนิด การทดสอบนี้ไม่ใช่ทำขึ้นมาเล่นๆ  แต่เป็นการทำให้เห็นว่าเครื่องยนต์ กลไก มีความสำคัญกับชีวิต หลังมันได้แทรกซึม ปะปนอยู่ในทุกพื้นที่

การที่ เครื่องยนต์ กลไก มีความสำคัญในทุกภาคส่วน การสร้างสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาออกแบบ ดูแล เครื่องกลให้สร้างประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาประเทศชาติ นับว่ามีความสำคัญยิ่งเช่นกัน   วิชาวิศวกรรมเครื่องกล จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อป้อนคนให้เข้ามาดูแลงานในส่วนนี้

การศึกษา วิศวกรรมเครื่องกล ต้องมีความเข้าใจในหลักการขั้นพื้นฐานของหลักกลศาสตร์ พลศาสตร์ อุณหพลศาสตร์ กลศาสตร์ของไหล จลนศาสตร์ และพลังงาน เพราะวิศวกรเครื่องกลจะต้องใช้ความรู้เหล่านี้มาใช้ทำงานจริงทั้งในภาคสนาม เพื่อการออกแบบและการวิเคราะห์ยานยนต์  อากาศยาน ระบบทำความร้อนและความเย็น เรือ ระบบการผลิต จักรกลและอุปกรณ์อุตสาหกรรม หุ่นยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์

ศาตร์ทางด้านนี้ จึงต้องการคนที่มีใจรักในเรื่องการคำนวน อีกทั้งต้องชอบประดิษฐ์ คิดค้นสิ่งต่างๆ เสมอๆ ด้วย เพราะการศึกษาส่วนใหญ่ จะประกอบไปด้วยการผสมผสานของทฤษฎีและการปฏิบัติ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนฝึกใช้ทั้งตรรกะและทักษะการแก้ไขปัญหา และสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการทำงานที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าเรียนในสาขาวิศวกรรมช่างกล ต้องเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.6 หรือ จบการศึกษาแล้ว หรือ เทียบเท่า (แผนการเรียนวิทย์-คณิต) และเป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านวิศวกรรมเชิงกล และในประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่เปิดทำการเรียนการสอนสาขาวิชานี้ อาทิ 

  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.รังสิต
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.มหาสารคาม
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เกษตรศาสตร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เทคโนโลยีสุรนารี
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.ธรรมศาสตร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เทคโนโลยีมหานคร
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.ขอนแก่น
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.มหิดล
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.ศิลปากร
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ม.สงขลานครินทร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จะเห็นได้ว่าการศึกษาหลักสูตรนี้ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้การบัณฑิตที่จบมานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ในสายงานอื่นๆ ได้อีกจำนวนมาก เพราะอย่าลืมว่า ทุกงานล้วนมีความเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมเครื่องกลทั้งสิ้น ความกังวลที่จะไม่ได้งานก่อนหน้า คงมลายสูญสิ้นไปหากเลือกเข้ามาเรียนวิศวกรรมเครื่องกล 

วิศวกรรมไฟฟ้า

เมื่อมีเครื่องกล ก็ต้องมีไฟฟ้า ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เป็นที่ทราบดีว่า ไฟฟ้าช่วยให้ค่ำคืนไม่มืดมิด ด้วยการฉายแสงสว่างแล้ว ยังมีคุณค่ามหาศาลในการสร้างพลังงานอื่นๆ ในการขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคน เศรษฐกิจ และประเทศชาติ เช่น พลังงานความร้อน, พลังงานแสง, พลังงานเสียง, พลังงานภาพและเสียง  รวมถึงพลังงงานกล

การศึกษาเรื่องไฟฟ้าถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ตราบใดที่บนโลกนี้มีมุนษย์ การใช้ไฟฟ้าก็จะไม่มีวันตาย เพราะเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในปัจจุบันล้วนต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าในการทำงานทั้งสิ้น การจะทำให้มีไฟฟ้าใช้ตลอดไป จึงต้องอาศัยผู้คนที่ศึกษาในวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ที่ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจพื้นฐาน การผลิตระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

รวมถึงการออกแบบแผงวงจร และนาโนเทคโนโลยีอื่นๆ ขึ้นมาอำนวยความสะดวกสบายของผู้คน และที่สำคัญต้องแปรผันพลังงานจากแหล่งต่างๆ มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดได้ด้วย 

วิศวกรรมไฟฟ้า หลักสูตรนี้จะเน้นเรียนทางด้านคณิตศาสตร์กับฟิสิกส์เป็นหลัก จะได้นำความรู้พื้นฐานไปพัฒนาตัวระบบ ทำในสิ่งที่มองไม่เห็นให้เกิดเป็นระบบสามารถคำนวนและออกแบบได้ ดังนั้นผู้ที่สนใจเข้าเรียนต้องมีความถนัดและความเชี่ยวชาญในด้านคณิตศาสตร์เป็นหลัก เพราะหัวใจของการเรียน วิศวกรรมไฟฟ้า จะต้องมีการคิดคำนวนอยู่ตลอดเวลา เพื่อลดความผิดพลาดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด 

ส่วนจะเลือกเรียนที่ไหนนั้นก็อยู่ที่ความชอบ มุมมอง เพราะสาขาวิชาที่ขาดไม่ได้เช่นนี้ แน่นอนมหาวิทยาลัยชื่อดังเกือบทุกแห่งได้เปิดรอให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งแล้ว อาทิ 

  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.จุฬาฯ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.เกษตรศาสตร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.มหิดล
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.สงขลานครินทร์
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.ขอนแก่น
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.เชียงใหม่
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.พะเยา
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.ศิลปากร
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ม.นเรศวร
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.มหาสารคาม
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ม.บูรพา

สำหรับใครที่ยังคิดไม่ตก เรื่องที่ว่าจะฝากอนาคตไว้กับงานอะไร การเลือกเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะการศึกษาศาสตร์นี้ แบ่งย่อยออกเป็นสาขาต่าง ๆ ได้หลากหลายด้วยกัน เช่น ไฟฟ้ากำลัง ไฟฟ้าควบคุม ไฟฟ้าสื่อสารหรือโทรคมนาคม และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์

และใช่ว่าจะมีทักษะเรื่องไฟฟ้าอย่างเดียว แต่สามารถฝึกฝนต่อยอดพัฒนาในด้านอื่นๆ ได้อีกมาโข ทั้งพอจบออกมาเป็นไปน้อยมากที่ วิศวกรรมไฟฟ้าจะตกงาน . . .

วิศวกรรรมโยธา

หากเอ่ยคำว่า วิศวกรโยธา เชื่อว่าคำตอบที่จะได้รับ คงหมายถึงกลุ่มคนที่ร่วมด้วยช่วยกันออกแบบ ก่อสร้าง และการบำรุงรักษาถนนหนทางไว้ให้คนใช้สัญจรเป็นแน่ แต่หากมองให้ลึกดูให้จริง วิศกรโยธามีมากกว่านั้น 

วิศวกรรมโยธา ตามความหมายคือ งานที่ทำด้วยกำลังกาย โดยเฉพาะงานก่อสร้างต่างๆ ที่สาขาวิชานี้ต้องรับผิดชอบเกือบจะคลอบคลุมทั้งหมด ตั้งแต่ งานก่อสร้างอาคาร, ถนน, สะพาน, การเจาะอุโมงค์, สนามบิน, ท่าเรือ, การจัดการระบายน้ำเสีย สรรหาน้ำดีมาใช้อุปโค-บริโภค รวมไปถึงงาน วางผังเมือง ล้วนแล้วเป็นหน้าที่ของวิศวะโยธาทั้งสิ้น 

วิศกรโยธา ไม่ใช่จะมีหน้าที่เฉพาะการปลูกสร้างสิ่งใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบำรุงรักษาให้สิ่งปลูกสร้าง มีอายุการใช้งานมานานคงอยู่ต่อไปด้วย ไม่อย่างนั้นโบราณสถานสำคัญของโลก อย่าง พีระมิดอียิปต์โบราณ และกำแพงเมืองจีน คงไม่สามารถยืนเด่นเป็นตระหง่าน ส่งต่อให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าชื่นชมในความมหัศจรรย์ได้ หากไม่มีวิศวะโยธา มาดูแลรักษาซ่อมบำรุงอยู่เรื่อยมา 

แน่นอนด้วยหน้าที่ของวิศวะโยธา ที่เรียกได้ว่ากว้างเกือบจะครอบจักรวาล การศึกษาในสาขาวิชานี้จึงต้องมีความหลากหลายเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น การเขียนแบบวิศวกรรม กลศาสตร์ของไหล  โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับวิศวกร วิศวกรรมชลศาสตร์ ธรณีวิทยาวิศวกรรม การออกแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก การออกแบบโครงสร้างรับแรงแผ่นดินไหว วิศวกรรมชลประทานและการระบายน้ำ การออกแบบผิวจราจร และวิศวกรรมการขนส่ง เป็นต้น

ต้องเข้าใจว่างานด้านวิศวกรรม เป็นงานเกี่ยวกับการออกแบบและการคำนวน คนที่สนใจจะเข้าเรียนต้องมีพื้นฐานวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ที่ดีมาในระดับหนึ่ง เพราะ 2 วิชานี้เป็นเหมือนวิชาพื้นฐานที่จะต่อยอดไปวิชาอื่น 

ดังนั้นคนที่เลือกสายอาชีพนี้ จำต้องจบการศึกษาจากแผนการเรียนวิทย์-คณิต หรือเทียบเท่า แถมต้องมีใจรักอยากพัฒนาประเทศ ด้วยการสร้างสรรค์สิ่งก่อสร้างต่างๆ ด้วย ส่วนความยากง่ายในการเรียนนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับบุคคล หากมีความตั้งใจจริง ฝึกฝนด้วยตัวเองเป็นประจำ เชื่อว่าเวลา 4 ปี ก็เพียงพอในการบ่มเพาะให้กลายเป็นวิศวะโยธาได้ 

วิศวะโยธา ทำงานอะไร

ด้วยความที่สายวิชาเปิดกว้างของการศึกษานี้ ทำให้คนจบวิศวกรรมโยธา กลายมาเป็นวิศวะโยธา มีโอกาสเลือกทำงานได้หลากหลาย ทั้งวิศวกรก่อสร้าง วิศวกรโครงการ วิศวกรด้านผลิตภัณฑ์วัสดุ วิศวกรสำรวจเส้นทางในการสร้างถนนหรือระบบขนส่ง เป็นต้น 

วิศวกรรมโยธานับว่าเป็นศาสตร์ทางวิศวกรรมที่สำคัญอีกแขนงหนึ่งที่จำเป็นและขาดไปไม่ได้ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านล่วงเลยมานานแค่ไหนก็ตาม เพราะการศึกษาวิชานี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับปัจจัยในการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างที่อยู่อาศัยนั่นเอง 

มหาวิทยาลัยดังๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย จึงต้องใส่สาขาวิชานี้มาเป็นหลักสูตรให้ผู้สนใจได้ร่ำเรียนเสมอ โดยมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ประกอบด้วย

  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์  ม.เกษตรศาสตร์
  • สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.รามคำแหง
  • สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

เทคโนโลยีสารสนเทศ

ดูจากชื่ออาจเข้าใจยากไปนิด กับการศึกษาในศาสตร์วิชานี้ แต่พอดูรอบ ๆ พิจารณาลึก ๆ  เป็นต้องร้องอ๋อทันที เพราะการทำธุรกิจในยุคสมัยนี้ ล้วนต้องพึ่งพาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งสิ้น 

เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือชื่อที่เราๆ ท่านๆ มักได้ยินจนคุ้นหู ก็คือ ไอที (IT) ซึ่งผลิตกลุ่มคนในองค์กรที่เปรียบเสมือนแพทย์ประจำออฟฟิศ ที่พนักงานแผนกอื่นๆ มักจะคิดถึงเสมอ หากเครื่องคอมพิวเตอร์คู่ใจออกอาการงอแง แฮงค์เข้าใช้งานไม่ได้

แต่นั่นเป็นเพียงภาพจำ เพราะการศึกษาเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นการเรียนรู้ที่ต้องลึกกว่านั้น ทั้งการรวบรวมประมวล เก็บรักษา และเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศโดยรวม ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล และการสื่อสาร โทรคมนาคม อันได้แก่

การเขียน ออกแบบ ซอฟแวร์ เว็บไซต์, ระบบเครือข่าย(network), การจัดการฐานข้อมูล(Database), การบริหารศูนย์ข้อมูล, การใช้งานระบบบริหารทัพยากรองค์กร(ERP), พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, การบริหารลูกค้าสัมพันธ์(CRM), การทำกราฟฟิค และ แอนนิเมชั่น
โดยผู้ที่จบสายนี้จะทำหน้าที่เป็น Programme, Tester, Network Admin, System Enginee รวมถึงนักพัฒนาเว็บไซต์ เป็นต้น 

สำหรับมหาวิทยาลัยที่เปิดทำการเรียนการสอน ได้แก่

  • คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.เกษตรศาสตร์
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ขอนแก่น
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.ทักษิณ
  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.เทคโนสุรนารี
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.ธรรมศาสตร์
  • สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.นเรศวร
  • คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ม.มหิดลคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.แม่โจ้ 

ด้วยการที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ถูกเชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ต ทำให้การทำธุรกิจในปัจจุบันส่งถึงผู้รับได้อย่างรวดเร็ว งานไอที หรือเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดแรงงานปัจจุบัน เพราะทุกธุรกิจล้วนต้องการให้คนเข้าถึง รู้จักมากที่สุด คนกลุ่มนี้จึงเป็นคำตอบของการทำธุรกิจยุคใหม่เป็นอย่างมาก หากยังคิดไม่ออกเลือกไม่ได้ เทคโนโลยีสารสนเทศ ก็เป็นอีกสาขาวิชาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง 

แพทยศาสตร์

ไม่ต้องบอกก็รู้กันดีอยู่แล้ว การศึกษาสายวิชานี้ จบออกไปคงไปทำอาชีพอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นหมอ
คำว่า หมอ ของแต่ละคนมีความหมายที่แตกต่างกันไป แต่ความเข้าใจสุดท้ายของหมอก็คือคนที่จะเอาความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามาช่วยชีวิต รักษาคนไข้ให้พ้นจากความเจ็บป่วย 

ปัจจุบันแม้จะมีเทคโนโลยีจำนวนมากเกิดขึ้น แต่กลับไม่มีนวัตกรรมไหนสามารถยับยั้งไม่ให้คนป่วย หรือเชื้อโรคไม่ให้เกิดขึ้นได้ มีแต่จะวิวัฒนาการเพิ่มขีดความสามารถแตกยอดเพิ่มไลน์เป็นเชื้อโรคตัวใหม่อยู่ตลอดเวลา 

หมอจึงเป็นอาชีพที่ต้องมีอยู่ในสังคม เพราะพวกเขาคือคนที่จะเข้ามาบำบัด ฟื้นฟูสมรรถภาพของมนุษย์ให้กลับมาสู่สภาพเดิม  หากเกิดความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจทำให้คนที่จบหลักสูตรนี้ออกมาโอกาสจึงมีเป็นศูนย์ที่จะตกงาน นอกเสียจากเจ้าตัวท้อใจ
ไม่เอาแล้วเส้นทางนี้จึงยอมเลิกลาปิดฉากอาชีพนี้ไป 

แพทย์เรียนอะไรบ้าง  

แพทยศาสตร์ นับเป็นสาขาวิชาที่จัดว่าหินเรียนยากสุดๆ กว่าสาขาอื่นๆ  เพราะมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือชีวิตคน จำต้องถูกเคี่ยวเข็ญเพื่อให้จบออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงต้องเรียนยาวถึง 6 ปี ถึงจะสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นหมอรักษาคนได้

  • ปี 1 ส่วนใหญ่จะเรียนวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ (ที่ใช้ในการแพทย์) คล้ายกับการเรียนเมื่อตอน ม.ปลาย แต่จะลงลึกมากว่า เพื่อปรับพื้นฐาน
  • ปี 2 จึงต้องเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบการทำงานของร่างกายของมนุษย์อย่างละเอียด เช่น ระบบประสาท ระบบเลือด รวมถึงวิชาทางกายวิภาค สรีรวิทยา พันธุศาสตร์ เพื่อเตรียมตัวสู่การเรียนแพทย์ 
  • ปี 3 เรียนเรื่องเชื้อโรค อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และการใช้ยาชนิดต่างๆ ในการรักษาโรค  เพื่อจะได้รับรู้ถึงความเจ็บป่วยในร่างกายเกิดขึ้นอย่างไร
  • ปี 4 ในชั้นปีนี้จะได้ลงพื้นที่จริงตามหอผู้ป่วยควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียน เพื่อได้เรียนรู้ขั้นตอนทำงาน และดูแลคนไข้ด้วยตัวเอง ทั้งการซักประวัติ การวินิจฉัยโรค และการให้คำแนะนำแนวทางการรักษาโรคในเบื้องต้นกับคนไข้ แต่เดี๋ยวก่อนขั้นตอนนี้ ใช่ว่าจะถูกปล่อยให้ทำเพียงลำพัง เพราะมีอาจารย์คุมหวอดคอยให้คำปรึกษาดูแลอยู่
  • ปี 5 เน้นการเรียนตามหอผู้ป่วยเป็นหลัก โดยไปตามหวอดที่ไม่เคยเจอตอนเรียนปี 4 เช่น  แผนกจิตเวช อีกทั้งยังได้เย็บแผล และทำคลอด เพิ่มเติมจากการซักประวัติ วินิจฉัยโรคด้วย
  • ปี 6 ทำงานเป็นแพทย์ แต่ยังคงเป็นนักศึกษาอยู่ ซึ่งการทำหน้าที่ก็ไม่ต่างจากการเป็นหมอจริงๆ สามารถออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลต่างจังหวัดได้

ที่สำคัญการศึกษาแพทยศาสตร์ จะมีการสอบใบประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ด้วย ในช่วงปีการศึกษาระหว่างปีที่ 3 ปีที่ 5 และปีที่ 6 ซึ่งการสอบแต่ละครั้งก็ไม่เหมือนกัน

ใครบ้างหนอจะเรียนแพทย์ได้

แพทยศาสตร์ เป็นสาขาไม่กี่แขนงที่เปิดกว้างรับทั้งเด็กที่จบสายวิทย์-คณิตฯ และสายศิลป์ แถมเด็กปี 1 ที่อยู่คณะอื่นก็สามารถสมัครใหม่ได้ โดยไม่ต้องลาออก ซึ่งการจัดสอบเข้าเรียนแบ่งเป็นสอบตรงผ่าน กสทพ. หรือการสอบที่กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยจัดขึ้น นอกจากนี้ยังมีในระบบโควต้า ที่แต่ละมหาวิทยาลัยทำการสอบเองด้วย 

สาขานี้เปิดสอนที่ไหนบ้าง 

ด้วยการเรียนที่เข้มข้น และรู้จริง มหาวิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรนี้ต้องเพียบพร้อมในเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือและบุคคลากร โดยประเทศไทย มีมหาวิทยาลัย จากทุกภาคของประเทศที่เปิดทำการสอนสาขาวิชานี้ อาทิ 

  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล 
  • คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • กลุ่มนักศึกษาแพทยศาสตร์พระบรมราชชนก สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า สถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

พยาบาลศาสตร์ 

เมื่อมีหมอก็ต้องมีพยาบาล เป็นคำจำกัดความที่จริงแท้ และแน่นอนที่สุด เพราะการทำงานของหมอจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ ต้องมีพยาบาลเป็นคนช่วยเหลือ นำแผนการรักษาไปปฏิบัติต่อผู้ป่วย และด้วยภาพลักษณ์ของสุภาพสตรีในเครืองแบบสีขาวดูสะอาดตาให้ความรู้สึกถึงนางฟ้า
ผู้มีเมตตาอันเปี่ยมล้น จึงมีเด็กหญิงจำนวนไม่น้อยที่ใฝ่ฝันอยากก้าวมาทำหน้าที่นี้เมื่อโตขึ้น 

พยาบาลศาสตร์ เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน เรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชนในทุกๆ ช่วงชีวิต ไล่ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ไปจนกระทั่งตาย แต่ที่คุ้นตาคือการช่วยเหลือผู้ป่วย ให้อยู่ในสภาวะที่จะต่อสู้การรุกรานของโรคได้อย่างดีที่สุด
ทั้งร่างกายและจิตใจ หลังเกิดอาการเจ็บป่วยจนเข้าโรงหมอ

หน้าที่การดูแลผู้ป่วยของพยาบาลใช่ว่าจะมีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน หรือในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรักษาพยาบาลที่ดี4 ปีในการศึกษาศาสตร์พยาบาล จะได้เรียนรู้ฝึกปรือทักษะมากมาย อาทิ  

  • ปีแรก เป็นปรับตัวเรียนขั้นพื้นฐานคล้ายกับการเรียนหมอ เช่น เคมี ชีวะฯ จากนั้นเป็นการเรียนความเป็นมาของวิชาชีพและจรรยาบรรณ รวมถึงการเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์
  • ปีที่ 2 เน้นหนักในเรื่องสรีระ ร่างกายของมนุษย์ ยา, พาหะ และโรคต่างๆ  การพยาบาลพื้นฐาน ซึ่งไฮไลท์ของการเรียนพยาบาลในช่วงปีนี้คือการได้ลองปฏิบัติการพยาบาลจริงๆ กับหุ่นสาธิต 
  • ปีที่ 3 เป็นการทำหน้าที่พยาบาลในหอผู้ป่วยจริงๆ เพื่อให้เข้าใจหน้าทีและการทำงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนับว่าหนักสุดในการเรียนสายวิชานี้ เพราะต้องเข้าทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปถึง หกโมงเย็น แถมบางยังมีการทำเคสจนถึงตีสองและตีสามด้วย 
  • ปีที่ 4 เป็นการเรียนวิชาอนามัยชุมชน การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช การรักษาโรคเบื้องต้น ซึ่งกลุ่มวิชานี้ต้องไปเรียนรู้ยังสถานที่จริง แตกต่างตรงที่สถานที่เรียนครั้งนี้เป็นเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น และสามารถเดินทางไปฝึกปฏิบัติยังต่างจังหวัดได้ 

พยาบาล เหมือนเป็นงานสบายในสายตาคนทั้วไป แต่แท้จริงแล้วต้องรับความกดดันมหาศาล ทั้งจากคนไข้ ญาติ หรือแม้แต่ในจิตใจของตนเอง คนที่จะมาทำอาชีพนี้จึงต้องแข็งแกร่ง มีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่น เห็นคุณค่าในชีวิตมนุษย์ และด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้สังคมปัจุบันไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทย แต่รวมถึงทั่วโลก ขาดแคลนบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่นี้เป็นจำนวนมา ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เข้ามามีบทบาทในการช่วยมนุษย์ทำงานมากยิ่งขึ้น แต่การพยาบาลรักษาผู้ป่วย เป็นอาชีพที่ไม่สามารถนำสิ่งประดิษฐืใดๆ มาทดแทนได้จริงๆ 

พยาบาลศาสตร์ สาชาวิชาที่เปิดสอนทั่วประเทศ 

ด้วยความสำคัญในการดูแลผู้เจ็บป่วย หลักสูตรพยาบาลศาสตร์ จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเรียนแพทย์ ทำให้สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ได้เปิดหลักสูตรทำการสอน ผลิตบุคคลากรในด้านนี้เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการให้ได้มากสุด สำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดทำการสอนพยาบาลศาสตร์ มีดังนี้ 

  • คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เปิดสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก)
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิทยาลัยนานาชาติ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • วิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • วิทยาลัยพยาบาลพระยาภักดีชุมพล มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
  • สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (เปิดสอนเฉพาะหลักสูตร 2 ปีต่อเนื่อง)
  • วิทยาลัยพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่น
  • สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย
  • วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
  • วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก
  • วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ
  • วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ
  • วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ
  • วิทยาลัยพยาบาลสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดนนทบุรี
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง
  • วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา
  • วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
  • วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
  • วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม
  • มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
  • มหาวิทยาลัยคริสเตียน (หลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ)
  • มหาวิทยาลัยปทุมธานี
  • มหาวิทยาลัยพายัพ
  • มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มหาวิทยาลัยราชธานี
  • มหาวิทยาลัยราชธานี วิทยาเขตอุดรธานี
  • มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล
  • มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
  • มหาวิทยาลัยสยาม
  • มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย
  • มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
  • วิทยาลัยเฉลิมกาญจนา
  • วิทยาลัยเชียงราย
  • วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
  • วิทยาลัยเซนต์เทเรซา-อินติ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • วิทยาลัยนครราชสีมา
  • วิทยาลัยบัณฑิตบริหารธุรกิจ
  • วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย 

การบัญชี

เชื่อไหมว่า คนเราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างง่ายๆ แต่เปี่ยมประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารเวลา หากเชื่อแบบนั้น คุณก็เข้าใจถูกแล้ว แต่เอ๊ะเดี๋ยวก่อน!! การวางแผนชีวิตให้มีสุข ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เฉพาะการบริหารเวลาเพียงอย่างเดียว การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวัน ก็เป็นอีกตัวช่วยให้การจัดการชีวิตให้มีความสุขเช่นกัน

การจัดการบัญชี คือการจดบันทึกรายการเกี่ยวกับการเงินที่ได้รับเข้ามาและที่ต้องจ่ายออกไป จากนั้นนำข้อมูลจริงบที่ได้มาประมวลผล จนทำให้ทราบฐานะทางการเงิน ก่อนจะวางแผนให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต ประโยชน์การจัดการบัญชี ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องตัวเลขการเงิน แต่ยังช่วยเรื่องระเบียบวินัย และทักษะในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องตรงจุด 

เห็นไหมด้วยคุณค่าของการทำบัญชีที่มีมากเหลือคณานับ องค์กรธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ล้วน ก็ต้องมีบุคคลากรด้านนี้อยู่ด้วยเสมอ เพราะด้วยความสำคัญของการบัญชี อันเป็นแหล่งข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของธุรกิจแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย และการขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อขยายกิจการ แถมยังแสดงให้เห็นถึงความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ขององค์นั้นด้วย 

การบัญชี  ต่อให้เวลาล่วงเลยผ่านไปนานเพียงใด ก็ยังคงยืนหนึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งยุคนี้สมัยนี้ ที่เทคโนโลยีเข้ามาครองโลก เป็นตัวช่วยในการแบ่งเบาภาระอำนวยความสะดวก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องอาศัยนักบัญชีเข้ามาจัดการเรื่องนี้อยู่ดี 

เกริ่นมาเสียยืดยาวกับความสำคัญของสาขาวิชานี้ คงอยากรู้กันแล้วละซิ วิชาการบัญชีนี้เขาเรียนอะไรบ้าง  การบัญชี เป็นการเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐศาสตร์และการเงิน รวมไปถึงความรู้ในเรื่องการจัดการเบื้องต้น และกฎข้อบังคับของสถาบันการเงิน เพื่อจะนำไปประยุกต์และปรับใช้ในโลกการทำงานจริงได้ อาทิ

ระบบฐานข้อมูลบัญชี ภาษี การวิเคราะห์การเงิน การเงินธุรกิจ การบัญชีชั้นกลางและชั้นสูง การจัดการบัญชี การสอบบัญชี การตรวจสอบการฉ้อโกง การวางแผนภาษี เป็นต้น

ซึ่งผู้ที่สนใจเรียนคณะนี้ ควรมีความชอบในเรื่องตัวเลขเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่ตัวเลขสองตัวหรือสามตัวเพื่อเอาไปลุ้นโชคนะ เพราะนั่นเป็นคนละอย่างกัน ซึ่งคนที่ชอบตัวเลขที่หมายถึง คือคนที่รักเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ชอบคิดคำนวนจนเป็นนิสัยต่างหากละ ที่จะเหมาะสมในการเรียนสาขาวิชานี้ 

สาขาการบัญชี เปิดสอนที่ไหนบ้าง 

ด้วยความที่การบัญชีเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจ ทำให้หลายสถาบันไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ หรือเอกชน ต่างบรรจุสาขาวิชานี้ไว้เป็นหลักสูตรสำคัญในการสอนเพื่อไว้เป็นตัวเลือก ให้ผู้สนใจได้เข้าศึกษานำความรู้ที่ได้มาใช้ประกอบอาชีพกัน อาทิ 

  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • หลักสูตรบัญชีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
  • คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
  • คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
  • คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  • คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  • คณะวิทยาการจัดการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม
  • คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  • คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  • คณะบัญชี การเงินและการธนาคาร มหาวิทยาลัยพายัพ
  • คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
  • คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

สรุป

การศึกษาคือการหนทางของชีวิต แต่การได้เลือกเรียนในสิ่งที่รัก และยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอีก ย่อมทำให้พบความสุขสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ในเวลาเดียวกัน 

9 สาขาข้างต้นเป็นเพียงแนวทาง แนะนำให้เรียนไว้จะได้ไม่ตกงาน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันการทำงานนั้นค่อนข้างยืดหยุ่นสูง คนที่ประสบผลสำเร็จพบความสุขที่แท้จริงในชีวิต อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียนมาก็ได้  ลองสำรวจตัวเองค้นหาคำตอบให้พบ จากนั้นจงตั้งเป้า และเดินหน้าไปคว้าความสำเร็จความสำเร็จนั้นไว้ให้ได้ 

Author Image

Admin