ตอนนี้หลายๆ คนอาจจะกำลังกังวลกับเชื้อไวรัสโคโรน่าที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกในตอนนี้ ไม่ว่าคนที่เคยไปในประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่ไม่เคยเดินทางไปประเทศนั้นเลย ต่างก็มีสิทธิ์ติดเชื้อกันทุกคน เพราะเมื่อคุณออกไปข้างนอก ก็ต้องพบปะกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อแม้ว่าเราจะป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้ากากอนามัยแล้วก็ตาม

สำหรับใครที่อยู่ในข่ายคนที่เคยเดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือคนที่มีอาการคล้ายเป็น COVIC-19 อาจมีคำถามว่าหากเกิดอาการเช่นนั้น สามารถไปตรวจดูอาการหรือรักษาที่ใดได้บ้าง เสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สามารถใช้ประกันสังคมได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาให้แล้วค่ะ

คนกลุ่มใดบ้างที่สามารถเข้ารับการรักษา

  • ผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
  • มีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ให้สวมหน้ากากอนามัยแล้วไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมที่เราเลือกไว้ แพทย์จะส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาฟรี ในกรณีที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาขึ้นมาจริงๆ จะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • ยังไม่มีอาการป่วย ในกรณีนี้ประกันสังคมไม่สามารถออกค่าใช้จ่ายให้ได้ เราจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง

หากยังไม่มีอาการป่วยใดๆ ยังไม่แนะนำให้รีบไปตรวจหาเชื้อ เพราะว่าเชื้อไวรัสโคโรน่ามีระยะในการฟักตัวประมาณ 14-30 วัน ดังนั้นหากเรารีบไปตรวจตั้งแต่กลับมาจากต่างประเทศ อาจทำให้ผลในการตรวจคลาดเคลื่อน ไม่พบเชื้อไวรัส พอเราได้ยินเช่นนั้นก็อาจออกไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมทั่วไป และหากติดเชื้อขึ้นมาจริงๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนอื่นและยังเป็นการแพร่เชื้อทางอ้อมอีกด้วย ดังนั้นควรเฝ้ารอดูระยะการฟักตัวประมาณ 14 วันก่อนแล้วค่อยตัดสินใจไปตรวจดูเชื้อโคโรน่าไวรัส

  • ผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง

สำหรับผู้ที่กลัวติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแม้ไม่ได้ไปประเทศกลุ่มเสี่ยงมา จำเป็นต้องเสียเงินในการตรวจเอง ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เปิดให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่า

เรทราคาในการตรวจหาเชื้อ COVIC-19

สถานพยาบาล

ค่าบริการ

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

3,000 – 6,000 บาท

โรงพยาบาลราชวิถี

3,000 – 6,000 บาท

โรงพยาบาลเปาโล ทุกสาขา

5,000 – 13,000 บาท

โรงพยาบาลรามาธิบดี

5,000 บาท

โรงพยาบาลบางประกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

5,000 บาท

โรงพยาบาลพญาไท 2

6,500 บาท

โรงพยาบาลแพทย์รังสิต

7,000 บาท

โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์

9,900 บาท

หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายในการตรวจขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของการติดเชื้อซึ่งอาจสูงกว่าข้อมูลข้างต้น

หากพบว่าป่วยเป็น COVIC-19 จริงและต้องหยุดรักษาตัว จะได้ค่าชดเชยหรือไม่

  • เงินชดเชยจากนายจ้าง

ในกรณีที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิ์ในการลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 30 วัน/ปี

  • เงินชดเชยจากประกันสังคม

ในกรณีที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนฯ ให้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง (คิดจากฐานอัตราเงินเดือนสูงสุดของผู้ประกันตนแต่ละมาตรา) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนฯ ไม่เกิน 365 วัน

ใครบ้างที่มีสิทธิ์รับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง)
  • หากส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว จะได้รับสิทธิ์ในการได้เงินทดแทนฯ
  • ยื่นใบลาป่วยและได้รับเงินจากนายจ้างครบ 30 วันก่อน ส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วัน สามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้
  • มีหนังสือรับรองจากนายจ้างว่าได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยครบ 30 วันทำงานใน 1 ปีปฏิทินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาทตามกฎหมายประกันสังคม ได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 38 (ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ลาออกจากงาน แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)
  • ได้รับสิทธิ์ในการได้เงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย
  • จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
  • ผู้ประกันตนมาตรา 39 (ประกันตนเอง)
  • ได้รับสิทธิ์ในการรับเงินทดแทนฯ เมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ไม่ว่าจะติดกันหรือไม่ก็ตาม ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ
  • กรณีที่มีรายได้หรือมีกิจการเป็นของตนเอง ให้นำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 (4,800 บาท) ตามกฎหมายประกันสังคม โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน
  • กรณีไม่ได้ทำงานกับนายจ้างหรือไม่มีรายได้ จะไม่สามารถเบิกสิทธิ์เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้
  • ผู้ประกันตนมาตรา 41 (ลาออกจากมาตรา 39 แต่ยังอยู่ในสิทธิ์คุ้มครอง 6 เดือน)
  • ได้รับสิทธิ์ในการรับเงินทดแทนเมื่อส่งเงินสมทบภายใน 15 เดือนย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และเจ็บป่วยภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัวและต้องมีรายได้จากการประกอบอาชีพ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จึงถือว่ามีรายได้จากการทำงานก่อนการเจ็บป่วย โดยจะได้รับสิทธิ์เหมือนกับผู้ประกันตนมาตรา 39

สรุป

ถ้าคุณเคยได้ทางไปประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ควรเฝ้าดูอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิด พยายามไม่เข้าไปใกล้ชิดผู้อื่น และควรกักบริเวณตัวเองให้อยู่แต่ภายในบ้านเป็นระยะเวลา 14 วัน หากคุณมีอาการป่วยที่ต้องสงสัยว่าอาจเป็นเชื้อไวรัสโคโรน่า สามารถไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมได้เลย แต่หากไม่มีอาการป่วยใดๆ แต่ต้องการเช็คให้มั่นใจ เราจะต้องออกค่าใช้จ่ายเองเป็นการส่วนตัว

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life