นับว่าเข้าขั้นวิกฤติแล้วสำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย เพราะไม่ใช่เฉพาะใน กทม. และปริมณฑลเท่านั้นที่ "ฝุ่นพิษ" มีค่าเกินมาตรฐานความปลอดภัย แต่ได้ลุกลามไปยังจังหวัดต่าง ๆ จนสภาพอากาศอยู่ในระดับสีส้ม คือ เริ่มเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และในระดับสีแดงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แต่การแก้ปัญหานี้กลับยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะบรรเทาความรุนแรงลงได้ ประชาชนที่เผชิญฝุ่นจึงต้องพึงพาตนเองในการป้องกันภัยร้ายนี้ด้วยตัวเองก่อน ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น เมื่อจำเป็นต้องเดิน ทางออกจากบ้าน พ้นเคหะสถานไปยังพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษเกินค่า
จะว่าไปหน้ากากอนามัยมีอยู่หลากชนิดหลายยี่ห้อมาก การเลือกหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการป้องกันฝุ่น จึงมีความจำเป็นมาก วันนี้เราจึงจะพาไปทำความรู้จักกับหน้ากากอนามัยชนิดต่างๆ เพื่อจะได้ไขคำตอบ และใช้ให้ถูกไปพร้อม ๆ กัน
ประเภทหน้ากากอนามัย
ในบ้านเราหน้ากากอนามัยเหมือนจะมีวางขายอยู่มาก แต่ถ้าจะให้จัดหมวดหมู่แล้วมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท คือ
- หน้ากากอนามัย N95
- หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น
- หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้า
- หน้ากากป้องกันมลพิษและสารเคมี
หน้ากากอนามัย N95
หน้ากากอนามัยชนิดนี้ นับว่าเป็นหน้ากากที่เหมาะกับสถานการณ์ฝุ่นพิษเป็นอย่างมาก เพราะมันมีคุณสมบัติป้องกันฝุ่นขนาดเล็กมากๆ ตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ไปจนถึงพวกฝุ่นควันขนาดใหญ่ในสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึง 95% แถมมีอายุการใช้งานนานประมาณ 3 สัปดาห์
กระนั้นแม้มันจะเหมาะมากกับการป้องกันฝุ่นพิษ แต่มันก็มีข้อเสียคือ หายใจเข้าออกลำบากเพราะมีแรงต้านภายในมาก มันจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอด และหญิงตั้งครรภ์ ที่สำคัญมีราคาแพง ซึ่งหากพอมีทุนทรัพย์ ก็ควรเลือกซื้อเฉพาะหน้ากากที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานของ NIOSH
จะมีชนิด N,R,P และมาตรฐานยุโรป EN P1,P2,P3 เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีที่สุด บางรุ่นก็จะมีช่องสำหรับหายใจออก (exhalation valve) ให้ด้วย
หน้ากากอนามัยแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น
หน้ากากชนิดนี้ คือหน้ากากที่เราพบเห็นโดยทั่วไป เป็นหน้ากากที่เรามักใส่เมื่อครั้งที่ป่วยและมีอาการไอและจามนั่นเอง แม้มันจะป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย แต่รู้ไหมหน้ากากชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ กระนั้นก็ไม่ใช่ทั้งหมด หากมีการนำมาประยุกต์ใช้กระดาษทิชชู่ 2 แผ่นซ้อนกันติดทับไปกับหน้ากากชนิดนี้ก็สามารถช่วยกรองฝุ่นได้ในระดับหนึ่งแม้ว่าประสิทธิภาพของมันจะไม่เที่ยบเท่าหน้ากาก N95 ก็ตาม
หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้า
หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากผ้า พบมากในกลุ่มคนที่ทำงานในครัว คนงานไม้ที่มีฝุ่นเลื่อย มีคุณสมบัติคล้ายกับหน้ากากแบบเยื่อกระดาษ 3 ชั้น แต่จะถูกใช้ในการป้องกันฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นคูรสมบัติของมันจึงไม่สามารถกรอง ฝุ่น PM 2.5 ได้แน่นอน แม้ว่าจะมีราคาถูกและสามารถซักกลับนำมาใช้งานต่อได้ก็ตาม
หน้ากากป้องกันมลพิษและสารเคมี
หน้ากากชนิดนี้ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามันสามารถป้องกันได้ทั้งมลพิษ และสารเคมี ยิ่งเป็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วยแล้วงานนี้รับรองว่าสิวๆ แต่ก็นั่นแหละด้วยอุปสรรคที่มันมีขนาดใหญ่ และราคาแพง จึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ลองนึกภาพตามดูซิ! หากทุกคนแห่สวมหน้ากากชนิดนี้ทั่วบ้านเราเมืองมันจะเป็นยังไง ? คงคล้ายกับหนังหนีสารพิษถล่มเมืองก็ไม่ปาน
หน้ากากอนามัย กับการสวมใส่ที่ถูกต้อง ป้องกันฝุ่น
เมื่อเลือกหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการสวมใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง เพื่อการป้องกันและช่วงกรองฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งขั้นตอนการนี้เป็นข้อแนะนำจากกรมอนามัย ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการสวมใส่หน้ากากอนามัยไว้ดังนี้
- เลือกใช้หน้ากากกันฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ที่ได้มาตรฐาน และเลือกขนาดที่เหมาะกับใบหน้า ครอบได้กระชับกับจมูกและใต้คางและใส่ได้แนบสนิทกับใบหน้า
- ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยชิ้นใหม่ทันที หากพบว่ามีรอยเปื้อนจำนวนมาก ชำรุด หรือชื้นแฉะ
- หน้ากากอนามัยเป็นของใช้เฉพาะบุคคล ไม่ให้ใช้ร่วมกับคนอื่น
- ควรล้างมือก่อนการสวมใส่และหลังการถอดออกทุกครั้ง
- หน้ากากที่ถูกใช้งานไปแล้ว และต้องการเก็บไว้ใช้ใหม่ ให้พิจารณาว่ามีการเปื้อนมากน้อยเพียงใด ทำความสะอาดได้หรือไม่ โดยเฉพาะด้านที่สัมผัสกับอากาศภายนอก รวมทั้งไม่หัก/พับ/งอ เนื่องจากทำให้เสียรูปทรง และเกิดรอยยับ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคลดลง
- การไอ จาม หรือพูดคุยขณะสวมใส่หน้ากาก อาจทำให้อากาศภายนอกรั่วเข้าไปได้ ดังนั้นต้องระมัดระวังให้หน้ากากให้มิดชิดแนบสนิทกับใบหน้าเสมอ
- กรณีเป็นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคปอด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะใช้หน้ากาก หรือหากไม่ป่วยแต่เมื่อสวมหน้ากากแล้วมีอาการมึนงงหรือคลื่นไส้ ควรหลบไปอยู่ที่ปลอดมลพิาแล้วถอดหน้ากากออกให้หายใจสะดวก และพบแพทย์
สรุป
การเอาตัวรอดจากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 สิ่งแรกก็คือการดูแลตัวเอง ก่อนที่จะให้หน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ การปฏิบัติขั้นต้นสามารถทำได้ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ช่วยกรองฝุ่นพิษได้ในครั้งนี้คือ หน้ากาก N95
นอกจากนี้ควรดูแลตัวเองในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารหรือที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการเดินริมถนน และควรหาซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ในบริเวณที่อยู่อาศัย เป็นต้น
ทั้งนี้ถึงแม้มันจะช่วยได้ไม่มาก แต่มันก็ดีกว่าไม่ทำอะไร เพื่อผลกระทบจะได้ไม่ตกมาอยู่ที่ตัวเราเอง รู้แบบนี้แล้วจะมัวช้าอยู่ทำไม รีบไปหาหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ป้องกันฝุ่นกันเถอะ . . .