ที่เชียงราย นอกจากจะมีวัดร่องขุ่น, วัดห้วยปลากั้ง ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำคัญ เชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศ ไปเช็คอินถ่ายภาพให้รู้ว่ามาถึงจังหวัดเชียงรายแล้ว ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะต้องไปแวะเวียนไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “หอนาฬิกาพุทธศิลป์” หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “หอนาฬิกาเชียงราย”
“หอนาฬิกาเชียงราย” ตั้งตั้งอยู่ใจกลางนครเชียงราย บริเวณถนนบรรพปราการ มีการเดินรถในลักษณะเป็นวงเวียน จนคนเชียงรายส่วนใหญ่จะเรียกย่านนั้นกันว่า “สี่แยกหอนาฬิกา”
จุดเด่นของหอนาฬิกาพุทธศิลป์ แน่นอนต้องเป็นความงามของศิลปะตามชื่อ เพราะโดดเด่นด้วยประติมากรรมเชิงศาสนา (พุทธศิลป์) ที่ได้มาจากวัดร่องขุ่นของอาจารย์เฉลิมชัย และงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่มีความละเอียดอ่อน โค้ง เรียว และแหลมคมคล้ายกับเขาสัตว์ ทำให้ดูมีความอ่อนช้อย คงเอกลักษณ์วัฒนธรรมของเชียงราย
แต่ช้าก่อนใช้ว่าหอนาฬิกานี้จะมีจุดเด่นเฉพาะศิลปะจากศิลปินดังเท่านั้น เพราะความพิเศษที่มากกว่านั้น มาจากแสงสีและเสียงเพลงที่นาฬิกาแห่งนี้จะเปล่งออกบรรเลงให้ได้ชมได้ฟังกันทุกค่ำคืนในช่วงเวลา 19.00, 20.00 และ 21.00
โดยตัวแสงสีจะมีการสลับสับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ เช่น ส้ม น้ำเงิน เขียว เคล้าด้วยบทเพลงเชียงรายรำลึก ที่ฟังเมื่อไหร่ เหมือนตกอยู่ในพวังหลงรักเชียงรายทันที จากนั้นเมื่อถึงช่วงไฮไลท์ ดอกบัว ที่อยู่ตรงกลางของอาคาร จะค่อย ๆ โผล่ออกมาให้นักท่องเที่ยวได้ยลความงาม จนสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
หอนาฬิกาเชียงรายหลังนี้ นอกจากการแสดงแสงสีเสียงที่สร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยวแล้ว บริเวณโดยรอบก็เต็มไปด้วยสถานที่สำคัญ ทั้งโบราณสถาน ถนนคนเดิน ร้านอาหาร รวมถึงที่พักไว้คอยบริการอย่างครบถ้วน โดยสถานที่ท่องเที่ยวใกล้หอนาฬิกาเชียงราย มีดังนี้
ที่เที่ยวใกล้หอนาฬิกาเชียงราย
ถนนคนเดินเชียงราย หรือ กาดเจียงฮายรำลึก
ห่างจากบริเวณหอนาฬิกาเพียง 190 เมตรหรือเดินเพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น ตลาดจะเปิดทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นของแฮนด์เมด ของตกแต่ง และของที่ระลึก แต่ไฮไลท์ของที่นี่ตกยกให้ลานเชียงรายรำลึก ที่มีไว้ให้นักท่องเที่ยว และชาวบ้านได้ออกมาเต้นรำวงสังสรรค์กันในยามค่ำคืน
หรือหากใครสนใจอยากลองชิมอาหารดั้งเดิมแบบคนเชียงราย หรือของกิ๋นบ๋าเก่า ก็สามารถมาลองกินได้ที่นี่ ซึ่งบรรยากาศของกาดเจียงฮายรำลึกนั้น เต็มไปด้วยความงามของโคมไฟสไตล์ล้านนาและตุงทอ สะท้อนให้เห็นความอ่อนหวานแบบฉบับชาวเหนือกันให้เห็นตลอดทาง
พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขา
ห่างออกไปอีก 700 เมตรหรือเดินประมาณ 10 นาที เป็นสถานที่ศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาทั้ง 6 เผ่า ได้แก่ ลีซอ อาข่า เย้า ม้ง กะเหรี่ยง และมูเซอ นอกจากนี้ยังมีการจัดฉายวิดีโอให้นักท่องเที่ยวได้ชมถึง 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมัน และฝรั่งเศส ด้วย
พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนชั้น 3 อาคารสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนจังหวัดเชียงราย เยื้องสวนตุงและโคมเชียงราย เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00-18.00 น. ค่าเข้าชมคนละ 50 บาท สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 053-740088, 053-719167 กด 301
วัดพระแก้ว พระอารามหลวงฉบับชาวล้านนา
ห่างจากหอนาฬิกาประมาณ 900 เมตรหรือเดินเท้า 10 นาที เดิมทีชื่อวัดป่าญะหรือวัดป่าเยียะ (วัดป่าไผ่) หลังพระอุโบสถมีเจดีย์อยู่องค์หนึ่งได้พังลงมาทำให้ค้นพบพระพุทธรูปปิดทอง ต่อมาปูนกระเทาะออกจึงได้เห็นองค์พระแก้วสีเขียวด้านในจึงได้เรียกกันต่อมาว่า “วัดพระแก้ว” ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์ เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติและได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง
วัดมิ่งเมือง
เดินเพียงแค่ 300 เมตรหรือประมาณ 5 นาที ก็สามารถเข้าชมวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงรายมามากกว่า 800 ปี ตัวสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบล้านนา ผสมผสานกับศิลปะพม่า ภายในมีปูชนียวัตถุสำคัญคือ พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์โบราณ ที่ได้รับมาจาก สมเด็จพระญาณสังวรณ์ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ไฮไลท์ของที่นี่คือบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ “น้ำบ่อช้างมูบ” ในอดีตบ่อน้ำแห่งนี้เป็นบ่อน้ำแห่งเดียวที่ชาวบ้านจะนำมาใช้ตักดื่มและนำไปขาย ผู้สร้างวัดมิ่งเมือง คือเจ้านางตะละแม่ศรี มเหสีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ซึ่งมีเชื้อสายกษัตริย์จากเมืองหงสาวดี ประเทศพม่า
อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช
ห่างออกไป 1.4 กิโลเมตรหรือเดินประมาณ 17 นาที ไม่ว่าใครก็ตามที่มาจังหวัดเชียงราย สถานที่แรกที่ทุกคนต้องมาก็คืออนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช เพราะพญามังรายมหาราช ถือว่าเป็นปฐมกษัตริย์ หรือผู้ก่อตั้งจังหวัดเชียงราย และเป็นผู้สถาปนาเมืองใหม่อีกแห่งที่ใกล้เชียงรายนั่นก็คือ “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” หรือจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบันนั่นเอง
ที่กินใกล้หอนาฬิกาเชียงราย
ส่วน ร้านอาหารแนะนำ ที่อยู่ใกล้หอนาฬิกาเชียงราย ที่อยากให้ไปสัมผัสเมื่อไปถึง มีดังนี้
เชียงรายรำลึก
ร้านอาหารวิวหอนาฬิกาที่อยู่ห่างกันเพียงแค่ 33 เมตร เป็นนิยมทั้งกับชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเชียงราย เหมาะสำหรับนั่งชิวและนั่งชมบรรยากาศยามค่ำคืน พร้อมการแสดงดนตรีสดให้ได้นั่งฟังกันยาว ๆ ยันเที่ยงคืน เปิดให้บริการเวลา 09.30 – 23.30 น. ทุกวัน
ร้านท่าน้ำภูแล
ห่างจากหอนาฬิกา 3 กิโลเมตร สามารถนั่งรถไปถึงภายใน 10 นาที ร้านนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก มีให้บริการทั้งโซนเอ้าท์ดอร์และโซนอินดอร์แบบเปิดแอร์ เหมาะสำหรับผู้ที่อยากทานอาหารพื้นเมืองท่ามกลางบรรยาศดี ๆ เปิดให้บริการเวลา 10.00 – 23.00 น. ทุกวัน
น้ำเงี้ยวป้าสุข
เดินจากหอนาฬิกา 1.3 กิโลเมตรหรือ 20 นาทีก็จะถือร้านขนมจีนน้ำเงี้ยวที่ขึ้นชื่ออันดับต้นๆ ของเชียงราย ราคาย่อมเยาว์ น้ำเงี้ยวมีความเข้มข้น ปริมาณค่อนข้างเยอะ ร้านนี้ไปได้เฉพาะช่วงกลางวัน ผู้ที่ชอบยำราตรีหมดสิทธิ์ เพราะเขาเปิดให้บริการเวลา 09.30 – 14.30 น. เท่านั้น แถมวันจันทร์ก็ปิดบริการด้วย หากใครอยากลองลิ้มรสก็ต้องวางแผนล็อกเวลาไว้ให้ดี
ร้านสหรส
ร้านอาหารที่อยู่ติดกับหอนาฬิกาซึ่งอยู่ห่างเพียง 150 เมตร เมนูเด็ดประจำร้านก็คือ “เกาเหลาเลือดหมู” เอกลักษณ์ของเมนูประจำร้านนี้คือ มีการใส่ผักสมุนไพรจิงจูฉ่าย เป็นวัตถุดับในการทำเกาเหลา และก๋วยจั๊บ เป็นที่นิยมของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ด้วยราคาที่เหมาะสมและคุณภาพอาหารที่ได้คุณภาพ เปิดให้บริการเวลา 06.00 – 14.00 น. ทุกวัน
ร้านชีวิตธรรมดา
ห่างจากหอนาฬิกาประมาณ 3.5 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลา 12 นาที ร้านนี้ไม่ใช่ร้านอาหาร แต่เป็นร้านกาแฟที่เหมาะให้ไปนั่งทอดตัวจิบกาแฟชมวิถีชีวิตของชาวเชียงราย ก่อนที่จะวางแผนเดินทางเที่ยวรอบเมืองของนักท่องเที่ยว เพราะบรรยากาศของร้านไม่ได้ธรรมดา เหมือนอย่างชื่อ ร้านอยู่ติดกับแม่น้ำกก มีการตกแต่งสวนแบบสไตล์อังกฤษ ทางร้านมีให้บริการทั้งอาหาร ขนมหวานและเครื่องดื่ม เปิดให้บริการเวลา 09.00 – 19.00 น. ทุกวัน
ที่พัก โรงแรม ใกล้หอนาฬิกาเชียงราย
นอกร้านอาหารและสถานที่เที่ยวที่อยู่โดยรอบหอนาฬิกาเชียงรายไปแล้ว หากไม่บอกที่พักก็กระไรอยู่ ซึ่งที่พักบริเวณดังกล่าวมีมากมายหลายสไตล์ทั้งห้องพักขนาดเล็ก, โฮมสเตย์ ไปจนถึงโรงแรมหรูขนาด 5 ดาว อาทิ
เบด แอนด์ เบรกฟาสต์
ห่างจากหอนาฬิกา 1.6 กิโลเมตร นั่งรถยนต์ประมาณ 5 นาที หรือหากคุณเป็นสายชิว สามารถเดินไปได้ประมาณ 20 นาที ที่พักขนาดเล็ก ออกแบบตกแต่งแบบสไตล์อังกฤษ โทนสีขาวฟ้า ให้ความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเองแบบฉบับชาวเหนือ ภายในมีสวนเล็กๆ ให้ได้นั่งหรือเดินเล่นพักผ่อนกันตามอัธยาศัย ราคา 1,000 บาทขึ้นไปต่อคืน
โรงแรมรสา บูทีค เชียงราย
ห่างจากหอนาฬิกา 1.6 กิโลเมตร นั่งรถยนต์ประมาณ 5 นาทีหรือเดินประมาณ 20 นาที โดดเด่นด้วยบรรยากาศการพักผ่อนกับสถาปัตยกรรมสไตล์มาร็อคโคสีสันสดใส นอกจากนี้ยังมีสระว่ายน้ำกลางแจ้งให้ได้ผ่อนคลาย มีมุมเก๋ๆ ให้ได้ถ่ายรูปอัพโปรไฟล์กันอย่างหลากหลาย ราคา 1,200 บาทขึ้นไปต่อคืน
บ้านไม้กระดาน
ห่างจากหอนาฬิกา 1.1 กิโลเมตร หรือเดินประมาณ 15 นาที โรงแรมบ้านไม้เก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ที่พักมีความทันสมัย การออกแบบสไตล์ Loft แต่ยังคงกลิ่นอายของความเป็นไทยอยู่ ภายในที่พักมีสนามหญ้าและคาเฟ่ให้ได้มานั่งพักผ่อนหย่อนใจ ราคา 950 บาทขึ้นไปต่อคืน
บ้านนอนเพลิน
โฮมสเตย์ที่ใกล้กับถนนคนเดินมากที่สุด เพียงเดินแค่ 5 นาทีหรือ 500 เมตร ที่พักราคาประหยัดที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนกับอยู่บ้านตัวเอง ด้วยการตกแต่งตัวที่พักสไตล์วินเทจ มีจักรยานให้ปั่นฟรีระหว่างเข้าพัก เจ้าของใจดีและเป็นกันเอง ราคา 750 บาทขึ้นไปต่อคืน
เลอ เทอร์ราเรียม เบด แอนด์ เบรคฟาสต์ ห่างจากหอนาฬิกา 750 เมตรหรือเดินเท้าประมาณ 10 นาที ที่พักสีเขียวที่เหมือนกับย้ายธรรมชาติมาไว้อยู่ใจกลางเมือง ช่วยให้ผู้ที่มาเข้าพักรู้สึกผ่อนคลายได้มากยิ่งขึ้น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันและที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองทำให้เดินทางได้สะดวก ราคา 800 บาทขึ้นไปต่อคืน
การเดินทางไป หอนาฬิกาเชียงราย
รถยนต์ส่วนตัว : ขับรถมุ่งหน้าไป ตามถนนบรรพปราการประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วจะเจอสี่แยกบรรพปราการก็จะเห็นหอนาฬิกาเชียงราย สามารถหาที่จอดรถบริเวณใกล้ๆ หอนาฬิกาได้ แต่หากมาชมในคืนวันเสาร์ ไม่แนะนำให้นำรถส่วนตัวมา เพราะมีการปิดถนนเป็นถนนคนเดิน ทำให้รถติดและหาที่จอดได้ยากกว่าเดิม ระยะทางในการขับรถประมาณ 10 กิโลเมตรจากตัวสนามบิน ใช้เวลาในการเดินทาง 20 นาที
รถโดยสารประจำทาง/เดินเท้า : หลังจากที่ลงรถที่สถานีขนส่งที่ 1 (ท่ารถเก่า) เดินออกถนนประสพสุข แล้วเดินไปตามทางเข้าถนนบรรพปราการ ก็จะเจอหอนาฬิกาเชียงรายอยู่ข้างหน้า ระยะทางในการเดินเท้าประมาณ 600 เมตร ใช้เวลาทั้งหมด 8 นาที
แท็กซี่ : จากสนามบินไปสู่ตัวหอนาฬิกาเชียงราย ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 150-200 บาท (10 บาทต่อ 1 กิโลเมตร)
สรุป
หอนาฬิกาเชียงราย มีชื่อเรียกชื่อมากมายทั้ง หอนาฬิกาอาจารย์เฉลิมชัย, หอนาฬิกาพุทธศิลป์ หรือ แม้กระทั่งหอนาฬิกาเปลี่ยนสี แต่ชื่อทางการของหอนาฬิกาแห่งนี้มีชื่อว่า หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หากมีโอกาสได้แวะเวียนไปเที่ยวเชียงราย อย่าลืมไปสัมผัสย่านหอนาฬิกาแห่งนี้ เพราะมีเรื่องราวมากมายที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ที่ไม่อยากให้พลาดจริง ๆ