การทำงานของหนุ่ม-สาวออฟฟิศ ปัญหาหนึ่งที่นอกเหนือจากเรื่องงานแล้ว อาการเมื่อยล้าและอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการนั่งโต๊จ้องหน้าคอมพ์เป็นเวลานานๆ ก็เป็นปัญหาที่ทำให้หงุดงิดใจเช่นเดียวกัน ซึ่งอาการเหล่านี้คงเคยได้ยินกันมาแล้วในชื่อ ออฟฟิศซินโดรม
ออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ และเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) อันเนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยไม่ขยับ ผ่อนคลายหรือปรับเปลี่ยนอิริยาบถ จนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรัง รวมไปถึงอาการชาที่บริเวณแขนหรือมือ จากการที่เส้นประสาทส่วนปลายถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง
อาการของโรคนี้จะพบได้บ่อยที่บริเวณคอและบ่า โดยมีลักษณะปวดตึง ถ้าเป็นมากอาจมึนและปวดร้าวที่ศีรษะ หรือมีอาการชามาที่แขน ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น นั่งผิดวิธี มีการก้มคอ หรือเกร็งกล้ามเนื้อ เวลานั่งทำงานนานๆ รวมไปถึงการไม่ยอมลุกเปลี่ยนท่าทางเพื่อผ่อนคลาย หรือยืดเส้นยืดสาย ก็ทำให้เกิดโรคนี้ได้
การรักษาโรคหากเป็นไม่มาก หรือเริ่มมีอาการปวดบริเวณดังกล่าว สามารถใช้วิธีประคบอุ่น และรับประทานยาช่วยบรรเทาอาการปวด เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้อักเสบ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาหรือทำกายภาพบำบัดได้
โรคนี้นับว่าเป็นโรคยอดฮิตของคนออฟฟิศ เพราะสถิติจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนวัยทำงานร้อยละ 60 มีภาวะโรคออฟฟิศซินโดรม กระนั้นแม้ว่าโรคนี้จะสร้างเจ็บปวดรำคาญใจให้กับคนทำงานออฟฟิศ แต่เชื่อไหมว่ามันมีวิธีป้องกันลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้อยู่ ซึ่งวิธีที่ว่า มีดังนี้
- 1. นั่งให้ถูกวิธี การที่ถูกวิธีควรนั่งหลังตรง ศีรษะตรง อย่าก้มคอ ปรับระดับเก้าอี้ให้พอดีกับโต๊ะ ระดับสายตาจะต้องตรงกับจอคอมพิวเตอร์ อย่าให้จอคอมอยู่ต่ำเกินไป ส่วนแขนทั้ง 2 ข้างควรมีที่พัก เพื่อไม่ให้ไหล่ทำงานหนัก เกร็งอยู่ตลอดเวลา
- 2. ออกกำลังคลายกล้ามเนื้อง่ายๆ ระหว่างที่นั่งอยู่โต๊ะ เช่นการยืดแขน ขา ยืดตัว หรือทางที่ดีควรลุกจากเก้าอี้ ไปทำอย่างอื่นเพื่อผ่อนคลายบ้าง จากนั้นค่อยมานั่งลุยงานต่อ ซึ่งนอกจากจะช่วยยืดกล้ามเนื้อแล้ว ยังช่วยพักสายตาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นเวลานาน ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ต้องใส่ใจ และทำสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง
- 3. พักผ่อนให้เพียงพอ และลดการใช้โทรศัพท์มือถือเกินความจำเป็น เพราะมือถือมีส่วนทำให้เกิดความล้าและเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อได้
เห็นไหมว่า พฤติกรรมในการทำงานรวมไปถึงสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดโรคนี้ ข้อแนะนำข้างต้นเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราไม่เจ็บป่วยจากโรคนี้ได้ด้วยตัวเอง อย่ามัวช้ามาดูแลสุขภาพกันดีกว่า เพื่อที่ว่าจะได้ไม่เสียใจภายหลัง จริ๊งจริง . . .
ข้อมูลบางส่วนจาก www.samitivejchinatown.com