“เงินสงเคราะห์บุตร” เป็นมาตรการจากสำนักงานประกัน ที่ให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกันตน ซึ่งเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเลี้ยงดูลูก ตั้งแต่อายุแรกเกิดไปจนถึง 6 ปี  เดิมที เงินสงเคราะห์บุตร จะได้รับอัตราเดือนละ 400 บาท แต่เมื่อปลายเดือนมกราคม ของปี 2562 เป็นต้นมา ได้มีการประกาศปรับเพิ่มจากเดิมเป็น 600 บาทแล้ว

ซึ่งกรณีที่เป็นทารกแฝด ทางสำนักงานประกันสังคมจะคิดตามจำนวนบุตรที่คลอด ฉะนั้นหากได้บุตรแฝด 2 คน ก็จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 1,200 บาท/เดือน แต่หากมากกว่านั้น ก็จะจำกัดที่ 3 คน หรือ 1,800 บาท/เดือน

ต้องมีคุณสมบัติแบบไหนถึงจะมีสิทธิ รับเงินสงเคราะห์บุตร ?

เข้าใจว่าเงินจำนวนนี้แม้จะไม่มากมายนัก แต่ก็ถือว่าไม่น้อยสำหรับบางคน เพราะสามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระในยามจำเป็นได้จริง ๆ ซึ่งการจะได้รับสิทธินี้จะต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ คือ 

  • ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิที่ท่านจะได้รั
  • เงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
  • ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรม หรือบุตร ซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
  • อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
  • จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
  • จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

วิธีการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์

เอกสารประกอบการลงทะเบียน สำหรับผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
  • สำเนาสูติบัตรบุตร
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ
  • หากกรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทน ให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดินทาง (passport) หรื
  • สำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1 ชุด

เอกสารประกอบการลงทะเบียน สำหรับผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ

  • สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
  • สำเนาสูติบัตรบุตร
  • กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ
  • หากกรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทน ให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดินทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1 ชุด
บัญชีธนาคารผูกพร้อมเพย์ 11 ธนาคาร (ผูกบัญชีด้วยเลขบัตรประชาชนของเจ้าของบัญชีเท่านั้น)
  • ธนาคารกรุงไทย
  • ธนาคารกสิกรไทย
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  • ธนาคารธนชาติ
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
  • ธนาคารออมสิน
  • ออมสิน
  • เกียรตินาคิน
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • ธนาคารทหารไทย
  • ธนาคารซีไอเอ็มบี
  • ไทยพาณิชย์
  • ธนาคารไทยพาณิชย์
  • และธนาคารกรุงเทพ

สถานที่ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนรับเงินสงเคราะห์บุตร

การยื่นคำร้องขอลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการรับเงินสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน สามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสาขาที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในวันและเวลาราชการ 

โดยจะไปยื่นเองหรือให้ผู้อื่นไปยื่นแทนก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือมอบอำนาจไปด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถยื่นเอกสารผ่านทางไปรษณีย์ได้เช่นกัน

เงินสงเคราะห์บุตรย้อนหลังได้กี่ปี?

เมื่อถามว่าการเบิกสิทธิเงินสงเคราะห์บุตรย้อนหลังสามารถทำได้ไหม คำตอบก็คือได้ โดยการเบิกสิทธิกรณีเงินสงเคราะห์บุตรทางสำนักงานประกันสังคม จะทำการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน หากมีการนำส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนบุตรคลอด จึงจะมีการย้อนหลังให้ไม่เกิน 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด 

ยกเว้นกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้นำส่งเงินสมทบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินให้ผู้ประกันตน ณ วันที่สิทธิเกิดขึ้นเท่านั้น

ขั้นตอนการลงทะเบียนรับเงินสงเคราะห์บุตร

  1.  กรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายเซ็น และนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคม หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน
  2.  เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐาน และพิจารณาอนุมัติ
  3. สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
    พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน

การตรวจสอบสิทธิ 

การตรวจสอบว่ามีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตร หรือไม่ สามารถสอบถามได้จากเว็บไซต์ www.sso.go.th หรือ  SSO สายด่วน 1506 ทั้งนี้ยังสามารถตรวจสอบการได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเข้าบัญชีได้ด้วยในช่องทางเดียวกัน 

เงินสงเคราะห์บุตร ความเหมือนที่แตกต่าง เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 

จากข้อมูลข้างต้นคงพอเข้าใจกันแล้วสำหรับที่มาที่ไป และขั้นตอนการรับสิทธิเงินสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตนกับทางประกันสังคม แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลได้มีการอนมุติโครงการเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกมาช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย จนทำให้เกิดความสับสนว่าเงินจาก 2 มาตรการนี้เป็นใช่เงินตัวเดียวกันหรือไม่ ??  เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว จะขออธิบายว่า เงินจาก 2 มาตรการ แม้จะมีอัตราการจ่ายเท่ากัน ที่ 600 บาท แต่กลุ่มเป้าหมายของผู้รับเงินต่างกัน 

เงินสงเคราะห์บุตร ผู้ได้รับสิทธิจะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนกับประกันสังคม
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ผู้ได้รับสิทธิคือพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อย มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี และไม่ได้ลงทะเบียนไว้กับประกันสังคม ให้สามารถเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่านการอุดหนุนเงินให้ผู้ที่มีบุตรทุกเดือน

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ เข้าร่วมโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 

เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิ์

  •  ต้องมีสัญชาติไทย
  • พ่อแม่ของเด็กต้องมีสัญชาติไทย หรือคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย
  • เด็กต้องเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จนมีอายุครบ 6 ขวบ
  • อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
  • ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน

ผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ลงทะเบียน

  • มีสัญชาติไทย
  • เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในอุปการะ (ไม่ใช่พ่อแม่ก็ได้)
  • เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
  • อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
    เด็กแรกเกิดที่มีสิทธิ์
  • มีสัญชาติไทย (พ่อแม่มีสัญชาติไทย หรือคนใดคนหนึ่งมีสัญชาติไทย)

ทั้งนี้ มารดาที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ยังไม่ต้องมายื่นคําร้องขอลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 

- กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่พักอาศัยอยู่
- เมืองพัทยา : ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลตามภูมิลำเนา

เอกสารที่ใช้ลงทะเบียน รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

  1. แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01) (ดาวน์โหลดที่นี่)
  2. แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) (ดาวน์โหลดที่นี่)
  3. บัตรประจําตัวประชาชนของผู้ปกครอง
  4. สูติบัตรเด็กแรกเกิด
  5. สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย บัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)
  6. สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1 ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์
    (ในกรณีที่สมุดสูญหายให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา)
  7. กรณีที่ผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท ต้องมีเอกสาร ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจํา (สลิปเงินเดือน หรือเอกสารหลักฐานที่นายจ้างลงนาม)
  8. สําเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตําแหน่ง หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2

ช่องทางการตรวจสอบสิทธิ์

สามารถลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตนเอง ที่ระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) เว็บไซต์ govwelfare.cgd.go.th โดยเลือกเมนู "ตรวจสอบประวัติการรับสวัสดิการ"

หากตรวจสอบแล้วไม่พบสิทธิ์ หรือได้รับสิทธิ์ แต่เงินอุดหนุนบุตรไม่เข้าบัญชี หรือมีข้อสงสัยอื่น ๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน 

call center 02 255 5850-7 ต่อ 121, 122, 123, 124, 147 และ 02 651 6920

ปฏิทินการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

สำหรับในปี 2563 นี้ ได้มีการเปิดเผยการจ่ายเงินเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตามรอบดังนี้ 



หมายเหตุ : กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการโอนเงินตามปฏิทินการทำงาน ทางกรมบัญชีกลางจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

สรุป

เงินสงเคราะห์บุตร และ เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจากรัฐบาล ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันก็คือช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ผู้ปกครอง จะแตกต่างกันก็เพียงแค่คุณสมบัติของผู้ได้รับสิทธิ พ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดที่มีบุตรก็อย่าลืมไปตรวจสอบ และลงทะเบียนรับสิทธิกัน แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่มี แถมยังช่วยได้เยอะด้วย 

ข้อมูลจาก : TheAsianParent, เฟสบุ๊ค เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจากรัฐบาล, กรมบัญชีกลาง

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life