ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย ร่วมกับสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย ได้จัดโครงการ "คิดถึงกัน" โดย น.ส.กรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงราย ร่วมกับนางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ นายกสมาคมฯ ได้นำคณะตระเวนเยี่ยมดูกิจการของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ในเครือข่ายของสมาคมฯ ซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดือน มี.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา

ทางคณะได้ถามสถานการณ์จากผู้ประกอบการโรงแรม, ร้านอาหาร, ท่องเที่ยวชุมชน และวัดต่างๆ ใน จ.เชียงราย และให้คำแนะนำเพื่อให้จัดระบบป้องกันไวรัสโควิด-19 ในยุคที่สังคมต้องมีการปรับตัวในอนาคตหรือนิวนอร์มัล รวมทั้งแนะนำการสมัครเข้าระบบมาตรฐานการให้บริการนักท่องเที่ยว SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) ของ ททท.เพื่อให้เป็นสถานประกอบการที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยว

น.ส.นงเยาว์กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการไปเยี่ยมเยียนผู้ประกอบการหลังจากประสบกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ติดต่อกันมาหลายเดือน และได้ดูแผนการปรับสถานประกอบการเพื่อรองรับวิกฤตดังกล่าว โดยได้นำร่องจำนวน 15 แห่ง ซึ่งพบว่ากรณีกิจการโรงแรมประสบปัญหาหนักที่สุดและคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าจะฟื้นตัว เพราะแม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางข้ามจังหวัดได้สะดวกขึ้น แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวยังน้อยจะมีเฉพาะตัวแทนจำหน่ายหรือเอเยนต์สินค้าต่างๆ รวมทั้งผู้ประกอบการทัวร์ที่ไปสำรวจห้องพักโรงแรมว่ามีมาตรการรองรับไวรัสโควิด-19 ได้ดีหรือไม่เพื่อการนำนักท่องเที่ยวไปเยือนในอนาคต

สำหรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและชุมชน พบว่าเริ่มมีผู้ประกอบการที่เข้าไปสำรวจเพื่อนำผู้ไปเยือนในอนาคต ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นวัดสำคัญๆ เช่น วัดห้วยปลากั้ง อ.เมืองเชียงราย ที่เดิมมีนักท่องเที่ยวไปเยือนวันละกว่า 1,000-1,500 คน ปรากฏว่าปัจจุบันมีเพียงประมาณ 200-300 คน

อย่างไรก็ตาม พบว่าในกรณีของกลุ่มร้านอาหาร มีการปรับตัวกันยกใหญ่และส่งผลทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเยือนอย่างคับคั่ง ทำให้ธุรกิจในเครือข่ายสมาคมฯ ประเภทนี้ฟื้นตัวขึ้นกว่า 80-90% โดยพบว่าบางแห่งหลังจากเปิดร้านและปรับระบบป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเป็นร้านที่มีอากาศถ่ายเท ปลอดโปร่งและมีบรรจุภัณฑ์อาหารที่มิดชิดสะอาด บางร้านที่ อ.แม่สายมียอดขายเดือนละกว่า 1 ล้านบาท

ขณะที่ร้านกาแฟบางร้านเดิมเคยซบเซา เมื่อปรับปรุงและเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการก็มียอดคนเข้าไปใช้บริการวันละกว่า 200-300 คน โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่นในจังหวัด

"สิ่งที่น่าสังเกตคือ สถานที่ที่มีการปรับตัวสู่ยุคนิวนอร์มัลจะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่น มีเจลล้างมือ จัดที่นั่งห่างกัน บรรจุภัณฑ์อาหารมิดชิด ปรุงสุกใหม่ไม่เป็นอาหารดิบ ฯลฯ รวมทั้งมีภูมิประเทศที่ปลอดโปร่งหรือจัดให้มีอากาศถ่ายเทสะดวกจะได้รับความนิยมมากกว่าร้านที่ไม่ปลอดโปร่งและยังเป็นระบบเก่าอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ทาง ททท.และสมาคมฯ จึงได้ให้คำแนะนำผู้ประกอบการไป

ส่วนกรณีของวัดที่ยังประสบปัญหาผู้คนไปเยือนน้อยอยู่นั้น จะร่วมกับทางวัดห้วยปลากั้งจัดกิจกรรมไหว้พระสุขใจ สไตล์นิวนอร์มัล (One Day Trip) โดยร่วมกับทางวัดจัดระบบนิวนอร์มัลภายในและประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง" นางนงเยาว์กล่าว

สำหรับกรณีวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย ที่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.นี้เป็นต้นไปนั้น ถือเป็นจุดช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งอื่นๆ ของ จ.เชียงราย ได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักที่สำคัญ และภายในมีการบริหารจัดการยุคนิวนอร์มัลอย่างดี

นายกสมาคมสหพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวภาคเหนือ จ.เชียงราย กล่าวด้วยว่า นอกจากโครงการที่ร่วมกับภาครัฐดังกล่าวแล้ว ทางสมาคมฯ ยังได้ร่วมกันในเครือข่ายของสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด โดยร่วมกันทำข้อตกลงหรือเอ็มโอยูนำนักท่องเที่ยวไปเยือนกันเอง เช่น เชียงราย-น่าน ลำปาง-ลำพูน ฯลฯ โดยหากจังหวัดใดนำนักท่องเที่ยวไปเยือนเท่าใดอีกจังหวัดก็จะนำไปเยือนเท่ากัน เพื่อให้กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวโดยภาคเอกชนไปพร้อมๆ กัน

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life