หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ทุกคนก็ต้องป้องกันตัวเองจากการติดโควิด-19มากกว่าเดิม แต่ในบางอาชีพก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการติดเชื้อได้ หรืออาจจะต้องระวังตัวเองมากกว่าอาชีพอื่นหน่อย เนื่องจากต้องเอาตัวเองเข้าไปสู่พื้นที่เสี่ยง หากไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ต้องทำ ทั้งเรื่องเงินหาเลี้ยงชีพ อาชีพที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

หากพิจารณาถึงอาชีพเสี่ยงโดยแบ่งตามระยะระบาดของโรคที่กำหนดโดยรัฐบาลไทย จะสามารถจำแนกอาชีพที่สัมพันธ์ได้กับระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากต่างประเทศ (imported cases)

อาชีพเสี่ยง: นักท่องเที่ยวและผู้เดินทาง โดยผู้ป่วยรายที่ 1-15 ที่พบในประเทศไทยล้วนเดินทางมาจากอู่ฮั่นทั้งสิ้น

ระยะที่ 2 มีการระบาดในวงแคบอย่างต่อเนื่อง สามารถสืบได้ว่าติดเชื้อมาจากใคร

อาชีพเสี่ยง: นอกจากนักท่องเที่ยว ยังมีผู้ที่สัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศ ได้แก่ บุคลากรด้านสาธารณสุข และบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว เช่น พนักงานขับรถ พนักงานขายของ ผู้ที่ทำงานในสายการบิน

ในประเทศไทยพบผู้ป่วยที่ไม่ใช่ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศรายแรกในวันที่ 31 มกราคม 2563

ระยะที่ 3 การระบาดที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่สามารถค้นหาแหล่งโรคได้ (ติดต่อกันในหมู่คนไทยในประเทศไทย) และ เป็นการระบาดในหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน (26 มี.ค. 2563) ยังไม่มีประกาศจากทางการว่าประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่สาม

ในขณะที่ที่ทำงานหลายแห่งเริ่มประกาศให้ทำงานจากที่บ้านหรือ Work from Home เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อจากการอยู่รวมกันเป็นหมู่มากหรือการสัมผัสจุดเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากจากภายนอก ยังมีบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ทำงานตามปกติ หรืออาจเข้มข้นกว่าในช่วงเวลาทั่วไป ทำให้บุคคลที่ประกอบอาชีพบางอย่างเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่ากลุ่มอื่น

และเช่นกัน ขณะที่บริษัทบางแห่งกำหนดให้พนักงานที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถหยุดงานโดยไม่นับเป็นวันลาหรือทำงานจากบ้านได้ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่การหยุดงานไม่ใช่ทางเลือกเพราะมีความคุ้มครองทางสังคมในระดับต่ำ เช่น ไม่มีวันลา หากหยุดงานจะไม่ได้รับเงิน ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล เป็นต้น

ความเสี่ยงในการติดเชื้อจึงสัมพันธ์กับลักษณะงานที่ทำ การป้องกันตนเองและการเข้าถึงอุปกรณ์การป้องกัน ไปจนถึงระดับความคุ้มครองทางสังคมที่แต่ละอาชีพและบุคคล

ต่อไปนี้คืออาชีพที่เข้าข่ายเสี่ยงติดเชื้อจากการทำงาน

  1. บุคลากรทางการแพทย์

“เราอยู่ที่ทำงานเพื่อคุณ คุณอยู่บ้านเพื่อเรา”

สโลแกนนี้เริ่มแชร์ขึ้นจากบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ต่างประเทศและกับในไทยในเวลาต่อมาเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนลดการเดินทางและลดการออกไปภายนอกเพื่อลดความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์คือกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงเวลานี้

ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของประเทศไทย จนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2563 มีบุคลากรทางการแพทย์ 11 คนที่ติดเชื้อโควิด

เมื่อดูสถิติผู้ติดเชื้อในต่างประเทศ บุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อยที่กลายมาเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสนี้เนื่องจากทั้งสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและอยู่ในพื้นที่ใกล้ชิดบริเวณที่มีผู้ป่วยมาก

สถิติการรักษาในโรงพยาบาลอู่ฮั่นแสดงให้เห็นว่า 40 รายจากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 138 รายหรือคิดเป็น 29% ที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นผู้ที่ทำงานด้านการสาธารณสุขทั้งสิ้น

สอดคล้องกับรายงานของนิวยอร์กไทมส์ที่ว่าบุคลากรทางการแพทย์คือที่มีความเสี่ยงสูงสุดเพราะต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยและกับบุคลากรท่านอื่นๆ ทั้งนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ในอเมริกาจำนวนมากที่ต้องกักตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้วเนื่องจากสัมผัสกับไวรัส

  1. บุคลากรที่ทำงานในท่าอากาศยานและจุดข้ามแดน

แม้จำนวนผู้เดินทางจะน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สายการบินหลายแห่งหยุดให้บริการเป็นการชั่วคราว อีกทั้งจุดข้ามแดนส่วนใหญ่ปิดตัวไปแล้ว แต่ตราบใดที่พื้นที่เหล่านี้ยังไม่ได้ปิดลงอย่างจริงจัง บุคลากรที่ทำงานย่อมมีโอกาสใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ที่เดินทางจากมาหลายที่

 

3.พนักงานบริการที่มีสังกัด

คนทำงานกลุ่มนี้ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงในช่วงที่ผู้คนใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัด บางส่วนต้องดูแลความสะอาดและสุขอนามัยของส่วนรวม บางส่วนต้องบริการค้าขายให้ผู้ซื้อจำนวนมาก

พนักงานกลุ่มนี้อาจมีสวัสดิการพื้นฐานอย่างประกันสังคมอยู่บ้างหากต้นสังกัดทำให้ และมีวันหยุดในสัปดาห์ตามปกติที่อาจช่วยลดการเผชิญกับความเสี่ยงได้บ้าง แต่หน้าที่ที่เพิ่มขึ้นทำให้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างไม่ต้องสงสัย

ยังไม่นับรวมว่าพนักงานบางส่วนได้ค่าจ้างรายวันจึงไม่มีสามารถลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างตามปกติได้ หากมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยอาจเลือกมาทำงานเพื่อรักษารายได้ของตนไว้แทนที่จะลดความเสี่ยงกักตัวให้ห่างจากผู้คน

พนักงานตามห้างร้าน ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าสะดวกซื้อ: เมื่อสถานการณ์ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นประกอบกับความไม่ชัดเจนด้านข้อมูลข่าวสารจากทางการทำให้คนจำนวนมากเริ่มกักตุนอาหารและของใช้ทำให้พนักงานกลุ่มนี้ต้องปฏิบัติงานอย่างเข้มข้น พบผู้คนและสัมผัสกับเงินมาก

แม่บ้าน รปภ: ยิ่งความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นประเด็นที่คนใส่ใจมากเท่าใด พื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียม อาคารที่ยังทำการอยู่ ท่าอากาศยาน รวมไปถึงห้างร้านยิ่งต้องเพิ่มความเข้มงวดในการทำความสะอาดจุดที่มีคนสัมผัสอย่างลิฟต์ บันไดเลื่อน ลูกบิด มากขึ้น รวมถึงแม่บ้านและรปภ.บางส่วนยังมีหน้าที่วัดไข้เพิ่มที่ทำให้ใกล้ชิดกับคนหมู่มากมากขึ้นไปอีก

พนักงานเก็บขยะ หน้ากากอนามัยถูกใช้วันละหลายล้านชิ้นโดยที่แนวทางการทิ้งที่เหมาะสมยังไม่ได้ถูกสื่อสารทั่วถึงหรือยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างเป็นมาตรฐาน ยังไม่รวมถึงการที่หลายร้านเปลี่ยนการใช้ภาชนะแบบใช้ซ้ำเป็นใช้แล้วทิ้งเพื่อลดความเสี่ยงของพนักงานร้านค้า แต่เท่ากับว่าขยะที่เพิ่มขึ้นก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของคนเก็บขยะเช่นกัน

  1. แรงงานอิสระในภาคบริการ

สตรีทฟู้ด พ่อค้าแม่ขายในตลาด รวมไปถึงคนขับแทกซี่ที่ซื้อรถขับเอง แม้คนกลุ่มนี้จะมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะหยุดงานหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าคนกลุ่มนี้แบกภาระทางเศรษฐกิจอยู่สูง เช่น มีค่าเช่าที่ที่ยังคงต้องจ่าย มีค่ารถที่ต้องผ่อน ต้นทุนคงที่ที่อาจไม่ได้ลดลงทำให้การหยุดงานแต่ละวันอาจกระทบกับภาระหนี้สินจึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งในจำนวนนี้เลือกทำงานตามปกติ

แม้บางรายอาจทราบว่าตนเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงเป็นที่เรียบร้อย แต่การกักตัวโดยที่บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเองทั้งหมดอาจทำให้การกักตัวเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

  1. พนักงานเดลิเวอรี่

ยิ่งคนไม่อยากออกจากบ้านเท่าไหร่ การสั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านบริการเดลิเวอรี่ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเท่านั้น

แต่ท่ามกลางโอกาสทองของงานชุกกลับนำมาซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยปกติแล้วพนักงานเดลิเวอรี่มักรองานอยู่กันเป็นกลุ่มในพื้นที่ที่มีการเรียกใช้บริการหนาแน่น อีกทั้งยังต้องพบปะผู้คนมากมายทั้งคนขาย คนสั่ง และเป็นผู้สัมผัสเงินโดยตรง

พนักงานเดลิเวอรี่ยังมีแง่มุม ‘เปราะบาง’ กล่าวคือ แม้จะทำงานให้บริษัทเดลิเวอรี่ แต่พนักงานกลุ่มนี้มีฐานะเป็นแรงงานอิสระจึงเป็นแรงงานนอกระบบที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมไม่เท่ากับลูกจ้างบริษัท ส่วนด้านบริษัทใช้คำว่า ‘พาร์ทเนอร์’ หรือ ‘ครอบครัว’ ในการเรียกคนทำงานกลุ่มนี้ 

ทั้งนี้ บางบริษัทได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดอยู่บ้างแบบมีเงื่อนไข เช่น ต้องเป็นคนขับที่อยู่ในระดับหนึ่งๆ ขึ้นไปจึงจะมีสิทธิ และ/หรือต้องกดรับสิทธิภายในวันที่ที่กำหนด เป็นต้น

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life