‘โรคปอดอักเสบ’ ภัยเงียบที่มาแบบไม่รู้ตัว
โรคปอดอักเสบ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ปอดบวม’ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเนื้อปอด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มักเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุมาก หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โดยการอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ ได้แก่
- ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ (Pneumonia) เป็นชนิดที่สามารถพบเจอได้มากที่สุด โดยเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ขึ้นอยู่กับกลุ่มอายุและสภาพแวดล้อมที่เกิดโรค เช่น ได้รับเชื้อโรคจากโรงพยาบาลหรือชุมชนที่อยู่อาศัย เป็นต้น
- ปอดอักเสบที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ เช่น การหายใจที่เอาสารระเคืองเข้าไป เช่น ฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ และอาจเกิดจากยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด และยาสำหรับควบคุมการเต้นของหัวใจบางชนิด
สำหรับการรับเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้หลายวิธี ได้แก่
- เราสามารถรับเชื้อได้ผ่านทางระบบทางเดินหายใจอย่างการไอ การจาม หรือการหายใจรดกัน โดยเชื้อเหล่านั้นอาจจะปนมาในอากาศในรูปแบบละอองฝอยขนาดเล็กแล้วเข้าสู่ปอดโดยตรง
- การแพร่เชื้อผ่านกระแสเลือด โดยผู้ป่วยอาจติดเชื้อมาจากอวัยวะอื่นมาก่อน เช่น ผู้ป่วยที่ใส่สายสวนปัสสาวะหรือใส่สายเข้าหลอดเลือดดำใหญ่เป็นเวลานานๆ เป็นต้น
- การสำลักเชื้อที่สะสมอยู่บริเวณระบบทางเดินหายใจลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย สำลักข้าว หรือสารคัดหลั่งในทางเดินอาหาร
- การทำหัตถการบางอย่างของทางโรงพยาบาล เช่น การส่องกล้องหลอดลม การใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ให้ความชื้นที่มีเชื้อปนเปื้อน หรือแม้แต่การได้รับเชื้อจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีก่อน
อาการของโรคปอดอักเสบ
- ไอมีเสมหะ
- เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
- หายใจเร็ว หอบ หายใจลำบาก
- มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่น
- คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
- เด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม ไม่ดูดนมหรือน้ำ
- ผู้สูงอายุอาจมีอาการซึม ความรู้สับสน อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ
ทั้งนี้ ระดับความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย ชนิดเชื้อโรค อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
วิธีในการรักษาโรคปอดอักเสบ
- การให้ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรีย โดยจะเลือกยาจากตัวต้นกำเนิดเชื้อโรคว่ามาจากที่ไหน
- การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ อาจให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม ยาละลายเสมหะ ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ให้ออกซิเจน และทำกายภาพบำบัดทรวงอก
- การรักษาภาวะแทรกซ้อน กลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น การแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียผ่านทางกระแสเลือดไปสู่อวัยวะส่วนอื่น ซึ่งมีความอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต จำเป็นต้องใส่ท่อเข้าหลอดลมร่วมกับเครื่องช่วยหายใจ
วิธีในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบ
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่เป็นตัวการที่จะทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดความบกพร่อง
- พยายามหลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีผู้คนแออัด อากาศไม่ถ่ายเท
- หมั่นล้างมือทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- ไม่ไปในที่ที่มีมลพิษหรือฝุ่นควันเป็นจำนวนมาก ที่ที่มีคนสูบบุหรี่ ควันไฟ หรือควันรถจากท่อไอเสีย
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนมึนเมา เพราะอาจะสำลักเอาเชื้อโรคจากปากเข้าปอด
- หากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ควรรีบรักษาให้หายดี อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
อาหาร/ผลไม้ คนป่วยโรคปอดควรหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น การรับประทานก็ควรเลือกกินด้วย เพราะมีบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับคนป่วยโรคปอด ซึ่งของกินและผลไม้ที่ควรเลี่ยงมีดังนี้
1. ไข่
สาเหตุที่ทำให้ไข่ไม่ถูกกับคนเป็นโรคปอดนั้น อาจเป็นเพราะไข่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ๆต่างได้ ถ้าอาการของโรคภูมิแพ้รุนแรงขึ้นแนะนำให้หยุดกินไข่และปรึกษาแพทย์
2. ถั่วลิสง
การที่ถั่วลิสงไม่ถูกกับโรคปอด เพราะในถั่วลิสงมีส่วนประกอบที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะหลีกเลี่ยง จากการศึกษาหลายครั้งพบว่าถั่วลิสงมีผลเสียต่อผู้ที่เป็นโรคหอบหืด
3. เกลือ
การบริโภคเกลือของคนป่วยโรคปอด อาจก่อให้เกิดการอักเสบที่เกิดจากการกักเก็บของเหลว ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคนที่มีอาการหืด ควรบริโภคโซเดียมในปริมาณที่น้อยลงด้วย
4. หอย
หอยเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาปอด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กและผู้ใหญ่ นอกเหนือจากหอยแล้วนักโภชนาการยังเตือนว่าอาหารทะเล เช่น กั้ง, ปู, กุ้ง ฯลฯ ห้ามบริโภคในผู้ที่มีปัญหาปอด
5. ไวน์
นักโภชนาการบอกว่าไวน์เป็นอันตรายต่อปอดของคุณ และอาจนำไปสู่อาการของโรคหืด เพราะมันมีสารกันบูดที่เรียกว่า ซัลไฟต์ อาจทำให้เกิดปัญหาปอดอย่างรุนแรง หากคุณเป็นนักดื่มไวน์คุณจะต้องจำกัดปริมาณการดื่มเพื่อป้องกันปอดของคุณนะ
ผลไม้ที่ช่วยในการบำรุงปอด
เมื่อมีอาหารและผลไม้ที่ไม่ควรกินของคนป่วยโรคปอดแล้ว มันต้องมีอาหารที่คนป่วยโรคนี้ต้องไปหามาไว้ทานด้วย ซึ่งของพวกนี้นอกจากจะทำให้อิ่มทอง ยังช่วยให้ปอดของคนเราแข็งแรง และห่างไกลโรคได้ อาทิ
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่มีประโยชน์อย่างมากมายต่อร่างกาย มีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการต่อต้านเซลล์โรคมะเร็ง และยังมีวิตามินซีสูงช่วยในการป้องกันหวัด ภูมิแพ้ วัณโรค เชื้อไวรัส และช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานอีกด้วย
- เมล็ดแฟลกซ์
เมล็ดแฟลกซ์ หนึ่งในอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง และยังเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติกับร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังมีแมกนีเซียมที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณหลอดลม ทำให้เราหายใจได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และป้องกันโรคหอบหืดได้
- แคนตาลูป
แคนตาลูปเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและทำให้ร่างกายทรุดโทรม โดยมีผลการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นพบว่า หากเรารับประทานวิตามินซีเข้าไปอย่างเพียงพอจะทำให้เสี่ยงต่อโรคหอบหืดน้อยลง
- แอปเปิ้ล
แอปเปิ้ล ผลไม้ที่มีเส้นใยและวิตามินซีสูง สารประกอบที่ค้นพบในแอปเปิ้ลอย่างฟลาโวนอยด์และเคลลินช่วยเปิดให้ระบบทางเดินหายใจได้หายใจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเบต้าแคโรทีนหรือเคอร์ซิทีน ช่วยในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลากหลายชนิด และมีแร่ธาตุจำนวนมากที่ช่วยในการบำรุงปอด
- แครอท
ในตัวแครอทที่มีสร้างแคโรทีนและปริมาณวิตามินเอที่สูงมาก ช่วยในการป้องกันโรคหอบหืดและช่วยกระตุ้นระแบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งสีส้มของแครอทยังมีสารฟาลคารินอลที่ช่วยในการต่อต้านเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดีและช่วยในการขับสารพิษออกจากร่างกายได้อีกด้วย
สรุป
โรคปอดอักเสบเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหนก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการรักษาสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงเสมอ ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายสูง และไม่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ข้อมูลบางส่วนจาก : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์