ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดนั้น ทางธนาคารต่างๆ ก็ได้เริ่มมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ที่มาใช้บริการธนาคารของตน หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ธนาคารออมสิน’ โดยมีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนโดยการให้ใช้สิทธิ์กู้เงิน “สินเชื่อฉุกเฉิน” วงเงิน 10,000-50,000 บาท ของธนาคารออมสิน ตามมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต “โควิด” ของรัฐบาล ซึ่งจะเปิดให้เริ่มลงทะเบียนออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ ในวันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นวันแรก
ธนาคารออมสิน จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยการปล่อยกู้เงินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่าดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และ ผู้มีรายได้ประจำ สำหรับรายละเอียดและเงื่อนไข มีดังนี้
สินเชื่อสำหรับผู้มี “อาชีพอิสระ”
- วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 10,000 บาท
- อัตราดอกเบี้ย 10% ต่อเดือน (Flat Rate)
- ผ่อนชำระสูงสุด 2 ปี
- ปลอดชำระเงินกู้ 6 งวดแรก
- ไม่ต้องใช้หลักประกัน
คุณสมบัติ
- มีสัญชาติไทย
- อายุ 20 ปีขึ้นไป
- มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน และสามารถติดต่อได้
- ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท
- ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น พ่อค้า-แม่ค้า, คนขับรถโดยสาร, คนขับแท็กซี่, และ มัคคุเทศก์
สินเชื่อสำหรับ “ผู้มีรายได้ประจำ”
- วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท
- อัตราดอกเบี้ย 35% ต่อเดือน (Flat Rate)
- ผ่อนชำระคืนนานถึง 3 ปี
- ต้องใช้คนค้ำประกัน หรือ สินทรัพย์มาค้ำประกัน
คุณสมบัติ
- สัญชาติไทย
- อายุ 20 ปีขึ้นไป
- มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน และสามารถติดต่อได้
- เป็นผู้มีรายได้ประจำ แต่รายได้ลดลง หรือขาดรายได้ จากผลกระทบไวรัสโควิด-19
วิธีขอกู้ “สินเชื่อฉุกเฉิน” ผ่านเว็บไซต์ออมสิน
- ยื่นลงทะเบียนขอสินเชื่อ ผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน gsb.or.th เท่านั้น ไม่ต้องไปธนาคาร
- เปิดให้เริ่มลงทะเบียนวันที่ 15 เมษายน – 30 ธันวาคม 2563
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อฉุกเฉิน วงเงินรวมทั้งสิ้น 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อในวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปล่อยสินเชื่ออีก 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่มาตรการสินเชื่อพิเศษวงเงินปล่อยสินเชื่อรวม 2 หมื่นล้านบาท ธนาคารออมสินจะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อดังกล่าวเพียงแบงก์เดียว ทั้งนี้ รัฐบาลก็ได้มีการคุ้มครองความเสี่ยงให้ธนาคารออมสิน ในกรณีลูกหนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 30-50% คือ กรณีที่กู้ 1 หมื่นบาท คุ้มครองความเสี่ยง 50% และกรณีที่กู้ 5 หมื่นบาท คุ้มครองความเสี่ยง 30% และจะชดเชยเงินต้นให้ด้วย
“ปัจจัยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ธนาคารออมสินจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการช่วยบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนและลูกค้าของธนาคารฯ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องนี้จะช่วยได้เป็นอย่างดี” ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว
ข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ