นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคตามฤดูกาล มักพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นประจำทุกปี และในเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนผู้ป่วยจะเป็นช่วงที่พบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยเด็ก อาการจะเริ่มหลังรับเชื้อ 1-4 วัน และมีไข้สูง 38 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนปอดบวมอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการที่รุนแรงมากกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง

สปสช.ได้บรรจุวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)  เพื่อดูแลประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2563 นี้ สปสช.ได้เตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก คือ

  1. ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1)
  2. ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 (H3N2)
  3. ชนิดบี (B/Victoria lineage)

เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตให้กับประชาชน โดยเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครจากข้อมูลจำแนกผู้ป่วยตามเขตบริการสุขภาพและกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักระบาด กรมควบคุมโรค กทม. มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สูงถึง 330.45 รายต่อแสนประชากร เป็นอัตราป่วยสูงกว่าทุกเขตบริการสุขภาพ สปสช. ได้จัดสรรวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จำนวน 270,000 โด๊ส เพื่อดูแลกลุ่มเสี่ยงชาว กทม.

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงใน กทม. และเพิ่มการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงช่วยลดความแออัดการเข้ารับบริการให้กับหน่วยบริการ สปสช.เขต 13 กทม. ได้เปิดช่องทางใหม่ในการลงทะเบียนสิทธิเพื่อขอรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผ่าน LINE ID :  @ucbkk สร้างสุข โดยประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน
  2. เด็ก อายุ 6 เดือน-2 ปี (เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนเต็ม จนถึงอายุ 2 ปี 11 เดือน 29 วัน)
  3. ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
  4. ผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี
  5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
  6. โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
  7. โรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กก. หรือ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

ด้าน นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเปิดช่องทางจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ผ่านไลน์ @ucbkk สร้างสุข เนื่องจากปีที่ผ่านมามีประชาชนส่วนหนึ่งที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนที่หน่วยบริการบางแห่ง แล้วประสบปัญหาวัคซีนไม่เพียงพอ เพราะมีผู้ไปขอรับบริการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สปสช.เขต 13 กทม. ได้วางระบบรับลงทะเบียนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แน่นอนเมื่อไปรับบริการตามวันเวลาและหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ เฉพาะในเขตพื้นที่ กทม. ที่หน่วยบริการในระบบบัตรทอง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ร่วมโครงการบัตรทอง หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. 1330  ตลอด 24 ชม.

ทั้งนี้การจองสิทธิ์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้าจะเริ่มลงทะเบียนผ่าน LINE ID :  @ucbkk  (เพิ่มตามลิงค์นี้ https://lin.ee/mLvmHpQ ) ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป ก่อนการฉีดวัคซีนจะเริ่มให้บริการในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ 1.สมัครสมาชิกเพื่อยืนยันตัวตน 2. เลือกบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3. เลือกหน่วยบริการในการเข้ารับวัคซีน 4. ลงนัดวันเวลาในการเข้ารับบริการ และ 5.รับบริการตามที่ลงทะเบียนไว้

นพ.วีระพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนประชาชนที่ไม่อยู่ในข่าย 7 กลุ่มเสี่ยง ในกรณีที่เกิดอาการป่วยเป็นไข้หวัดและมีอาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาตามอาการ โดยประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิที่หน่วยบริการประจำโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ข่าวจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life