ในช่วงที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) กำลังระบาด การสวมหน้ากากอนามัยเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว เพราะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วนั้นอาจจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ หน้ากากอนามัยใช้แล้วจึงถือเป็นขยะติดเชื้อ วันนี้เราจะมาบอกขั้นตอนในการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วของทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อไม่ให้ขยะประเภทหน้ากากอนามัยกลายไปเป็นภาระของคนอื่นในอนาคต
“หน้ากากอนามัย” คือ หน้ากากที่ใช้เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจจากมลพิษ สารพิษ และเชื้อโรค จึงจัดเป็นขยะติดเชื้อ ดังนั้น การกำจัดหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อไม่ให้กลายเป็นต้นตอใหม่ของการแพร่กระจายเชื้อโรค
ขั้นตอนการทิ้งหน้ากากอนามัย ทำได้ง่ายๆ แค่ “พับ ม้วน ทิ้ง” ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ถอดหน้ากากโดยห้ามสัมผัสด้านใน และด้านนอกของหน้ากาก
- พับ หรือม้วนหน้ากากเก็บส่วนที่สัมผัสร่างกายไว้ด้านใน
- ใช้สายรัดพันไว้รอบหน้ากาก
- ใส่ถุง (แยกกับขยะประเภทอื่น) พร้อมรัดปากถุงให้แน่น เพื่อป้องกันการกระจายของเชื้อ
- เขียนบนถุงขยะนั้นให้เห็นชัดเจนว่าเป็นขยะติดเชื้อ (หน้ากากอนามัยใช้แล้ว)
- ทิ้งลงในถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) เพื่อเข้าสู่กระบวนการกำจัดเชื้อ
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่
สำหรับหน้ากากอนามัยของผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น คนที่ต้องกักตัวดูอาการ จะต้องทำการฆ่าเชื้อเบื้องต้นด้วยการราดน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮเปอร์คลอไรด์ 5%) ก่อนทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น แล้วค่อยนำไปทิ้งในถังขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง) หรือในกรณีที่ไม่มีถังแยกสำหรับขยะติดเชื้อ ให้ทิ้งรวมในถังขยะทั่วไป แต่เขียนบนถุงให้ชัดเจนว่า เป็นขยะติดเชื้อ หรือหน้ากากอนามัยใช้แล้ว
นอกจากนี้ยังมีการบอกวิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วตามเพจและเว็บไซต์ต่างๆ เช่น กรมอนามัย, สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ควรเลือกดูจากหน่วยงานที่ดูมีความน่าเชื่ออย่างหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานทางการแพทย์ต่างๆ
ข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา