ฝุ่น PM 2.5 อันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด
สภาพอากาศทั่วกรุงและปริมณฑลที่ขุ่นมัว มีหมอกหนาทึบเสมือนกับฤดูหนาว แต่ไม่ได้มีอากาศเย็นหรือลมหนาวอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลทำให้การหายใจติดขัดเป็นไปด้วยความลำบาก สาเหตุทั้งหมดมาจากฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 เจ้าปัญหา ภัยเงียบที่ใครหลายคนมองข้ามไป
ปัจจุบันค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าสูงเกินระดับมาตรฐาน และกำลังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน ล่าสุดทางเว็บไซต์ AirVisual.com ได้ทำการรายงานการจัดอันดับค่าฝุ่นทั่วโลก พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ของประเทศไทยมีปริมาณฝุ่นสูงติดอับดับที่ 4 ของโลก กรมควบคุมมลพิษได้แนะนำประชาชนให้เฝ้าระวังรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี งดหรือลดการทำกิจกรรมในที่กลางแจ้ง หรือควรใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองอย่างหน้ากากอนามัยเวลาออกไปข้างนอกเสมอ
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร?
ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เนื่องจากเป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก ทำให้สามารถหลุดผ่านขนจมูกเข้าไปสู่ร่างกาย ผ่านเข้าไปทางเส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ
ฝุ่น PM 2.5 สาเหตุเกิดมาจาก?
ฝุ่น PM 2.5 สามารถเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ล้วนแล้วมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น ควันจากท่อไอเสียรถ การเผาป่า การเผาขยะ โรงงานอุตสาหกรรม หรือการก่อสร้างต่างๆ รวมถึงการรวมตัวกันของก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งในปี พ.ศ.2556
อันตราย จาก ฝุ่น PM 2.5 น่ากลัวกว่าที่คิด
- อันตรายต่อปอด เวลาที่เราหายใจ ฝุ่น PM 2.5 ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของปอดและลามไปถึงถุงลมในปอด ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น หายใจสั้นถี่ และอาจก่อให้เกิดโรคร้ายอย่างโรคหลอดลมอักเสบหรือโรคปอดแข็งจากภาวะฝุ่นจับปอดได้
- กระทบต่อสุขภาพร่างกายเบื้องต้น เช่น หายใจลำบาก ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ ร่างกายเมื่อยล้า มองไม่ชัด หอบหืด
- กระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น มีอาการไอ จาม มีน้ำมูก คัดจมูก แสบจมูก เจ็บคอ ไอแบบมีเสมหะ หรืออาจส่งผลให้เป็นไซนัสอักเสบได้ หรืออาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น อึดอัดแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก
- อันตรายต่อดวงตา เกิดอาการแสบตา ตาแดง ระเคืองตา ตาอักเสบ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ต้อลม ต้อเนื้อ ภูมิแพ้ขึ้นตา
- โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคเกี่ยวกับการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอปนเลือด มีเสมหะ อาจหายใจมีเสียงดังหวีด หากมีอาการเกิน 3 สัปดาห์ก็อาจจะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง
- อันตรายต่อหัวใจ หากร่างกายได้รับฝุ่น PM 5 ในปริมาณมากและเป็นเวลานาน มีผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นแรงขึ้น มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ภาวะหัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบจนถึงตายได้
- มะเร็งระบบทางเดินหายใจ เมื่อฝุ่นขนาดเล็กได้สัมผัสกับปอดเป็นเวลานาน อาจทำให้ระบบน้ำเหลืองหรือระบบเลือดเป็นอันตราย ลามไปถึงระบบทางเดินหายใจ จนก่อให้เกิดโรคปอดเรื้อรังหรือมะเร็งปอด
- อันตรายต่อผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการลมพิษ ระคายเคืองตามร่างกาย ผิวหนังอักเสบ ปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนัง ผื่นกำเริบ ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายหรือผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้วควรระวังเพื่อไม่ให้โรคกำเริบได้
- อันตรายต่อกลุ่มเสี่ยง อาจทำให้โรคกำเริบได้ ยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ โรคปอด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้มีโอกาสหัวใจวายเฉียบพลัน
- อันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ ถ้าได้รับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานาน เสี่ยงส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้สามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรกทำให้มีผลต่อน้ำหนักเด็กแรกเกิดน้อยผิดปกติ แล้วยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด และยังอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบสมองของลูก
วิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5
- ลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากคุณเป็นคนที่ชอบออกไปเดินเล่นตามสวนสาธาณะหรือการออกกำลังกายนอกบ้าน ลองเปลี่ยนมาเป็นการออกกำลังกายในบ้านหรือฟิตเนส หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้ต้องอยู่นอกบ้าน
- สวมหน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้านเสมอ หน้ากากที่เหมาะสำหรับใส่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 คือหน้ากาก N 95 สามารถป้องกันได้ 95% และหน้ากาก N 99 สามารถป้องกันได้ 99% ที่สำคัญที่สุดคือต้องใส่หน้ากากให้ถูกวิธี สามารถศึกษาวิธีการใส่หน้ากากได้ตามนี้ หน้ากากอนามัย ใส่ให้ถูกต้อง ป้องไวรัสโคโรนา และฝุ่น PM 5
- หมั่นทำความสะอาด แม้ว่าเราจะอยู่ภายในบ้าน ไม่ได้รับมลพิษจากข้างนอกบ้าน แต่ภายในบ้านเราเองก็มีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกาะอยู่ตามเฟอร์นิเจอร์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ เราควรหมั่นทำความสะอาดบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้ตัวเองป่วย ดื่มน้ำมากๆ งดการสูบบุหรี่ และพยายามออกกำลังกายให้แข็งแรง
- ปิดประตูและหน้าต่างบ้าน ป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้ามาในบ้าน เพราะเวลาที่มีฝุ่นละอองพัดเข้าบ้าน ตัวเราเองจะได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ต่างจากการออกไปนอกบ้านเลย
สรุป
ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถลอดผ่านขนจมูกของเราเข้าไปสู่ร่างกายได้โดยตรงและส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นเราจึงควรหาทางป้องกัน ไม่เอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับฝุ่น PM 2.5 เช่น การงดกิจกรรมที่ต้องทำในที่กลางแจ้งหรือการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกไปทำธุระข้างนอก
ข้อมูลจาก : MThai, Greenpeace Thailand