ระวัง! ลืมส่งเงินประกันสังคมกี่เดือน พ้นสภาพผู้ประกันตน

ประกันสังคมคืออะไร?

            ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของผู้มีรายได้และมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยมีจุดประสงค์ในการทำประกันสังคมเพื่อให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากความเจ็บป่วย การคลอดบุตร ทุพพลภาพ การตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยผู้ประกันตนจะได้รับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายทดแทนอย่างต่อเนื่อง

ผู้ประกันตนคืออะไร?

            ผู้ประกันตน คือ บุคคลที่ทำการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังต่อไปนี้

  1. ผู้ประกันตนภาคบังคับ มาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป
  2. ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39 คือ บุคคลที่เคยอยู่ในมาตรา 33 แล้วลาออก และสมัครเข้าสู่มาตรา 39 โดยต้องเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือนและลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
  3. ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40 คือ ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีและมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์

สำหรับมนุษย์ออฟฟิศอย่างเราแล้ว จัดว่าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33

เราได้รับอะไรบ้างจากสิทธิประกันสังคม?

  • กรณีเจ็บป่วย จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมไม่ต่ำกว่า 3 เดือน โดยสามารถใช้ได้กับโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
  • เจ็บป่วยทั่วไป สามารถไปใช้บริการที่โรงพยาบาลที่บัตรรับรองสิทธิ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (ยกเว้น 14 โรค)
  • เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถใช้กับโรงพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด ทำการสำรองจ่ายก่อนแล้วนำหลักฐานมาเบิกได้ตามอัตราที่กำหนด
  • อุบัติเหตุ สามารถใช้กับโรงพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด ทำการสำรองจ่ายก่อนแล้วนำหลักฐานมาเบิกได้ตามอัตราที่กำหนด
  • กรณีคลอดบุตร จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมไม่ต่ำกว่า 15 เดือน
  • สามารถเบิกค่าคลอดบุตรได้ 13,000 บาทต่อการคลอด 1 ครั้ง (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
  • ผู้ประกันตนหญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอดเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้ได้แค่บุตร 2 คนแรกเท่านั้น)
  • กรณีทุพพลภาพ จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
  • รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นรายเดือนตลอดชีวิตในกรณีทุพพลภาพร้ายแรง หากไม่ร้ายแรงจะได้รับตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามที่ประกาศ
  • ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก จ่ายให้ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน จ่ายให้ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ส่วนค่ารถและค่าบริการทางการแพทย์จะได้รับการเหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
  • กรณีเสียชีวิต จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมมาแล้ว 1 เดือน และสาเหตุการตายไม่มาจากการทำงาน
  • สามารถขอค่าทำศพได้ 40,000 บาท
  • กรณีสงเคราะห์บุตร จ่ายเงินสมทบให้ประกันสังคมไม่ต่ำกว่า 12 เดือน เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ยกให้คนอื่น
  • ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 400 บาท ตั้งแต่อายุแรกเกินจนถึง 6 ปีบริบูรณ์
  • สามารถขอใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 คน
  • กรณีชราภาพ แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่

กรณีบำนาญชราภาพ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (ไม่ต้องจ่าย 180 เดือนติดต่อกัน) และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

  • ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนจะได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือน ในอัตราร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนจะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญชราภาพอีกร้อยละ 1.5 สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนทุกๆ 12 เดือนที่จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนนั้น

กรณีบำเหน็จชราภาพ จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย ความเป็นผู้ประกันตนก็จะสิ้นสุดลง

  • ถ้าจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
  • กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือนนับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
  • กรณีว่างงาน สามารถเข้าไปศึกษาได้ตามนี้ ว่างงาน...ไม่มีเงิน มาทางนี้ เช็คดูสิทธิ ก่อนไปขึ้นทะเบียนคนว่างงาน

ขาดส่งเงินประกันสังคมกี่เดือนถึงจะหมดสิทธิ์เป็นผู้ประกันตน

            สำหรับผู้ประกันตนที่ยังมียอดค้างชำระอยู่นั้น เสี่ยงต่อการสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 โดยหากผู้ประกันตนขาดส่งเงินประกันสังคม 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที

            ทังนี้ทางผู้ประกันตนมาตรา 39 สามารถทำการชำระเงินสมทบเดือนละ 432 บาท ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน ผ่านหลากหลายช่องทางดังต่อไปนี้

  • จ่ายผ่านทางสำนักงานประกันสังคมโดยตรง ทุกเขตพื้นที่ที่สะดวก
  • หักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ผ่านทางธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงเทพ
  • จ่ายเงินสดที่ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต และจ่ายผ่านระบบ Pay at Post ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) หรือจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (เซ็นทรัล)

ข้อมูลจาก : FlowAccount.com, 

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life