สอบ ก.พ. คืออะไร? สอบไปเพื่ออะไร?

หากผู้ถึงการสอบ ก.พ. แน่นอนว่าหลายๆ คนจะนึกถึงการสอบเพื่อเข้าบรรจุเป็นข้าราชการ หนึ่งในอาชีพที่มีความมั่นคงสูง สวัสดิการดี และเป็นที่คาดหวังของบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่อยากลูกได้สอบรับข้าราชการ เนื่องจากมีความเชื่อว่างานรับข้าราชการเป็นงานที่มีเกียรติ สร้างความภาคภูมิใจให้กับวงศ์ตระกูล

อีกทั้งยังมีสวัสดิการที่ครอบคลุมตัวเองรวมไปถึงพ่อแม่ หากต้องการศึกษาว่างานราชการเป็นอย่างไร สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ รู้จักอาชีพข้าราชการ กับวิธีการไต่เต้า ทำงานราชการ

การสอบก.พ.คืออะไร? สอบไปเพื่ออะไร?

ก.พ.หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หน่วยงานที่ให้บริการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น

ดังนั้นจึงได้มีการสอบก.พ.เพื่อคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้าไปทำงานให้กับหน่วยงานราชการ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกนั้นต้องสามารถทำงานตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ ก็คือใครก็ตามที่อยากทำงานรับข้าราชการจะต้องผ่านการสอบก.พ.ก่อนเป็นด่านแรก เนื่องจากการสอบก.พ.ถือเป็นระบบกลางในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในระบบราชการ โดยแบ่งการสอบออกเป็น 2 แบบ คือ

การรับสมัครแบบ e-Exam เป็นการสอบโดยใช้วิธีสอบกับคอมพิวเตอร์ สามารถเลือกสอบได้ที่ 9 ศูนย์สอบเท่านั้น ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร, มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่สำนักงาน ก.พ. รวมทั้งหมด 25,520 ที่นั่ง วุฒิการศึกษาที่รับสมัครได้แก่

  • ปริญญาตรีหรือปริญญาโทหรือคุณวุฒิอย่างอื่นที่เทียบได้ในระดับเดียวกันในทุกสาขาวิชา
  • ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วหรือผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีนั้นๆ

การรับสมัครแบบ Paper & Pencil วุฒิการศึกษาที่รับสมัครได้แก่

  • ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
  • ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
  • ปริญญาตรีหรือปริญญาโท

การสอบ ก.พ. แบ่งออกเป็น 3 ภาค ได้แก่

  • ภาค ก คือการสอบวัดความรู้ทั่วไปและวัดระดับเชาวป์ปัญญา ใครที่สอบผ่านด่านนี้ไปได้ สามารถใช้ผลสอบตัวนี้ได้ตลอดชีวิต โดยจะมีการแบ่งข้อสอบออกเป็น 3 วิชา ได้แก่
  • วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 สำหรับปริญญาตรีและไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 สำหรับปริญญาโท
  • วิชาภาษาอังกฤษ ได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 สำหรับปริญญาตรีและปริญญาโท
  • วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี ได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 สำหรับปริญญาตรีและปริญญาโท

สำหรับผู้ที่มีหลักฐานรับรองผลการทดสอบภาษาอังกฤษ TOEFL (ไม่รวม TOEFL ITP) TOEIC IELTS CU TEP หรือ TU GET ที่ยังไม่หมดอายุการรับรองผลการทดสอบ และได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของการทดสอบนั้นๆ

ตัวอย่างแบบทดสอบเข้ารับราชการ http://job.ocsc.go.th/exam_expo/

ตารางการสอบ ก.พ. ภาค ก ปี 2563

ข้อควรระวังในการสมัครสอบ

  1. ผู้สมัครสอบที่เลือกสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2563 (PAPER & PENCIL) และได้ยืนยันการสมัครสอบแล้ว จะไม่สามารถสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2563 (E-EXAM) ได้
  2. ผู้สมัครสอบที่เลือกสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ประจำปี 2563 (E-EXAM) และได้ยืนยันการสมัครสอบแล้ว จะไม่สามารถสมัครสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี 2563 (PAPER & PENCIL) ได้
  3. ผู้สมัครสอบที่สอบผ่านการวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของสำนักงาน ก.พ. ในระดับวุฒิการศึกษาใดแล้ว จะไม่สามารถสมัครสอบในระดับวุฒิการศึกษาเดียวกัน หรือต่ำกว่าได้

2) ภาค ข คือการสอบความสามารถเฉพาะตำแหน่ง เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ, นิติกร, เจ้าพนักงานสาธารณสุขปฏิบัติงาน เป็นต้น โดยการสอบจะเป็นการสอบแบบข้อเขียน ออกโดยหน่วยงานราชการที่เปิดรับสมัคร ที่สำคัญคือผู้ที่สมัครจะเป็นสอบผ่านภาค ก ก่อน แล้วจึงจะสามารถสมัครภาค ข ได้

3) ภาค ค คือการสอบสัมภาษณ์ ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการการคัดคนเข้าทำงานข้าราชการ เพื่อดูถึงความเหมาะสมกับตำแหน่ง ซึ่งอาจมีการทดสอบอย่างอื่นนอกจากการสัมภาษณ์ แล้วแต่ตำแหน่งและหน่วยงานของผู้สมัคร เช่น การทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย การทดสอบทางจิตวิทยา เป็นต้น

สรุป

ประตูก้าวสู่การเป็นข้าราชการหรือที่เราเรียกการสอบนี้ว่า ‘การสอบก.พ.’ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเริ่มต้นการเป็นข้าราชการ ในแต่ละปีจะมีผู้สมัครเข้ารับการสอบนับแสนคน แต่คนที่สอบผ่านเข้าไปได้นั้นกลับมีเพียงไม่กี่คน แน่นอนว่าอาชีพรับข้าราชการเป็นอาชีพที่คนไทยส่วนใหญ่ใฝ่ฝันที่จะทำ เพราะว่าเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน พร้อมทั้งสวัสดิการที่ครอบคลุมทั้งตัวผู้รับราชการและครอบครัวผู้รับราชการเอง อีกทั้งยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวด้วย

ดังนั้น ใครที่กำลังมีแพลนที่จะสอบก.พ.หรือกำลังจะต้องสอบก.พ. ก็จะต้องอ่าหนังสือให้หนักกว่าเดิม โดยบางทีเราก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหนังสือออนไลน์มาอ่าน เพราะว่าความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำ ลองหาซื้อหนังสือที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับข้อสอบเก่ามาอ่านหรือลองดาวน์โหลดข้อสอบเก่าจากเว็บไซต์ของสำนักงานก.พ.มาลองทำ เพื่อจะได้ทดสอบว่าตัวเองมีความถนัดในวิชาใดหรือไม่ถนัดวิชาใด จะได้สามารถเพิ่มเติมความรู้ได้ตรงจุดมากกว่า

ข้อมูลจาก : สำนักงาน ก.พ.

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life