เชื่อว่าหลายคนกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ เบื่อ ไม่อยากทำงาน รู้สึกงานหนักเกินไป อยากนอน ไม่อยากรับรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องงานอีกต่อไป หากคุณรู้สึกอย่างที่เรากล่าวมา ตอนนี้คุณอาจจะอยู่ใน “ภาวะหมดไฟ” หรือก็คือความรู้สึกที่ไม่อยากจะทำงานอีกต่อไป หากคุณกำลังเป็นอยู่ เรามีวิธีแก้ไขให้กับคุณค่ะ แต่ก่อนอื่นเลย เรามาทำความรู้จักและเช็กกันดูก่อนดีกว่าว่าเราอยู่ในข่ายที่กำลังหมดไฟอยู่หรือเปล่า
ภาวะหมดไฟในการทำงานคืออะไร
ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก 3 อาการ ได้แก่
1) มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ
2) มองความสามารถในการทำงานของตนเองในเชิงลบ ขาดความรู้สึกประสบความสำเร็จ
3) มองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า
คนทำงานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ หากรู้สึกว่างานของตนมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ
- ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน
- ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป
- รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
- ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกัน
- ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง
ระยะต่าง ๆ ในการทำงานซึ่งนำมาสู่ภาวะหมดไฟ (Miller & Smith, 1993) แบ่งได้ดังนี้
- ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงาน คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงาน และองค์กร
- ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตนอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการของตนทั้งในแง่การตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ คนทำงานอาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความขับข้องใจ และเหนื่อยล้า
- ระยะไฟตก (brownout) คนที่งานรู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานเริ่มลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน มีการวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง
- ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข คนทำงานจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตนเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่
- ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากคนทำงานได้มีโอกาสผ่อนคลาย และพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตนเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย
หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลด้านต่างๆ ดังนี้
- ผลด้านร่างกาย: อาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ
- ผลด้านจิตใจ: บางรายอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ อาจพบมีการใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับอารมณ์
- ผลต่อการทำงาน: อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
สัญญาณเตือนว่าเริ่มเกิดภาวะหมดไฟ
- อาการทางอารมณ์: หดหู่ เศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด ไม่พอใจในงานที่ทำ
- อาการทางความคิด: เริ่มมองงานหรือคนอื่นในแง่ร้าย ระแวงง่ายขึ้น โทษคนอื่น สงสัยความสามารถของตนเอง และอยากเลี่ยงปัญหา
- อาการทางพฤติกรรม: หุนหันพลันแล่น ผัดวันประกันพรุ่ง ทำกิจกรรมสร้างความสุขลดลง เริ่มมาทำงานสายบ่อยขึ้น บริหารจัดการเวลาแย่ลง
หากเกิดภาวะหมดไฟ จะจัดการอย่างไร
1.นอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา
หากเรารู้สึกว่าพักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ ลองมาปรับเวลานอนของเราดูดีไหม? พยายามนอนให้เป็นเวลาและนอนให้เพียงพอสำหรับวัยและร่างกายของเราต้องการ ช่วยให้สมองของเราปลอดโปร่งและรู้สึกสดชื่นมากขึ้นกว่าเดิม
2.ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
อย่ากินแต่ของที่ตัวเองอยากกิน และอย่ากินของหวานเยอะ พยายามกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่และมีปริมาณที่เท่าๆ กัน เพื่อให้สมดุลกับร่างกายของเรา ดื่มน้ำให้เพียงพอกับร่างกาย ช่วยในการลดความเครียดในการทำงานและยังทำให้หุ่นดีขึ้นด้วย
3.หากิจกรรมทำนอกเวลา
เวลาว่างๆ เราไม่ควรเอาแต่นอนซึมอยู่บนเตียงนอน ลองหากิจกรรมที่เราอยากทำมานานมาทำในเวลาว่างดู ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือบางทีเราอาจจะลาหยุด เพื่อออกไปท่องเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศดู เป็นการผ่อนคลายที่ดีอีกทาง
4.ปรับทัศนคติในการทำงาน
ก่อนที่เราจะเข้าไปทำงานที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับบริษัทที่เราจะต้องทำก่อน ทั้งในภาพรวมใหญ่ๆ อย่างตัวองค์กร และการมองแบบเจาะลึกลงไป เช่น วัฒนธรรมองค์กร เพื่อนร่วมงาน ระบบการทำงานภายในองค์กร และทัศนคติของเราที่มีต่อการทำงานด้วย
5.เปิดใจให้กับคนรอบข้าง
อย่ามัวแต่ปิดกั้นตัวเอง ไม่ยอมรับฟังความเห็นของอื่น ลองเปิดโอกาสให้คนอื่นบ้าง ลองปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานดูเ เปิดใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แล้วเราอาจจะพบกับโลกแบบใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นการเปิดโลกให้กว้างขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่ถ้าหากคนทำงานเริ่มมีอาการเศร้าหดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
บทความแนะนำ
- HOW TO บริหาร “สุขภาพจิต” ช่วงวิกฤต COVID-19
- ขั้นตอนจัดการความเครียด ไม่ให้ป่วยใจ จากวิกฤติไวรัสโควิด-19
- หลีกเลี่ยงด่วน! กับ 5 พฤติกรรม ที่ไม่ช่วยให้หายเครียด
- เคล็ดลับดูแลตัวเองสำหรับคนทำงานดึก