จะดีแค่ไหนถ้าหากว่าเราสามารถเก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำในระหว่างทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องบังคับฝืนใจตัวเองให้ทำหรือกดดันตัวเองให้เก็บเงินอยู่ตลอดเวลา หากสามารถเป็นเช่นนั้นได้จริง ก็จะทำให้เรามีเงินเก็บเป็นของตัวเองและไม่รู้สึกเครียดอีกด้วย

แต่ละคนจะมีเป้าหมายในการเก็บเงินที่แตกต่างกันออกไป บางคนเก็บเงินเพราะอยากได้รถได้บ้านเป็นของตัวเอง บางคนอยากเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าเดิม หรือบางคนก็เก็บเงินเพื่อนำไปเที่ยว พักผ่อนคลายเครียด แต่แล้วความฝันก็พังทลาย เพราะสิ้นเดือนทีไร เงินก็หมดทุกที วันนี้เราจะมานำเสนอวิธีในการเก็บเงินแบบง่ายๆ ด้วยทฤษฎี Nudge กัน

“Nudge Theory” หรือ “ทฤษฎีผลักดัน” ของดร. ริชาร์ด เธเลอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2017 หนึ่งในแนวคิดที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมในหมู่นโยบายขององค์และรัฐบาล รวมไปถึงวงการธุรกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งตามหลักแล้วเป็นการออกแบบสถานการณ์หรือแรงผลักดันให้กับเราโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการการกระตุ้นให้มนุษย์เกิดปฏิกิริยาต่อสิ่งนั้นแล้วเดินไปตามทางอย่างถูกต้อง เช่น เวลาที่มีผู้ชายหล่อๆ เดินผ่าน สาวๆ ก็จะเกิดการมองตามอย่างอัตโนมัตินั่นเอง

พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่ใช่การบังคับหรือฝืนใจทำแต่อย่างใด แต่เป็นการใช้แรงจูงใจในการตัดสินใจทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม จนเกิดเป็นแนวคิดที่ว่าสิ่งนี้จะไปออกแบบสถานการณ์หรือวิธีการเพื่อให้ผู้คนทำในสิ่งที่ต้องการหรือคาดหวังไว้

สำหรับทฤษฎี Nudge กับการเก็บเงิน นั่นไม่ใช่การบังคับแต่อย่างใด แต่เป็นการดีไซน์ทางเลือกให้กับเรา เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่เราต้องการ เน้นในการคิดถึงเป้าหมายในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น โดยทฤษฎีนี้จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าการเก็บเงินในระยะสั้น โดยมีขั้นตอนในการเก็บเงินทั้งหมด 4 ขั้นตอน นั่นก็คือ

ให้รางวัลตัวเอง (Reward yourself)

ไม่ว่าใครก็ต้องชอบรางวัลใช่ไหมล่ะคะ? ยิ่งเป็นรางวัลที่ได้มาด้วยความยากลำบากแล้วล่ะก็ มันก็ยิ่งมีค่ามากกว่าเดิมและเราก็จะรู้สึกมีความสุขกับรางวัลที่เราได้กลับมา ดังนั้นเราลองมาเริ่มกำหนดรางวัลและกำหนดเป้าหมายในชีวิตของเราก่อนดีไหม? นั่นจะทำให้คุณรู้สึกมีกำลังใจที่จะเก็บเงินมากยิ่งขึ้น แต่เราก็ไม่ควรให้รางวัลกับตัวเองจนกระทั่งสูญเสียเงินทั้งหมดที่เราเก็บมานะคะ

เปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน (Change your routine)

หากคุณกำลังตั้งเป้าหมายว่าอยากไปเที่ยวต่างประเทศก่อนสิ้นปีนี้ คุณก็ควรเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของคุณก่อนเลยเป็นอย่างแรก จากปกติดื่มกาแฟแก้วละเป็นร้อย ก็ลองเปลี่ยนมาดื่มกาแฟแก้วละ 30-40 บาทดูบ้าง หรือลองงดกาแฟไปบ้างก็ได้ ได้ทั้งสุขภาพที่ดีและเงินเก็บที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เราควรตั้งเป้าหมายในการเก็บเงินของเราไว้ว่าเดือนนี้เราเก็บเงินกี่บาท หรือสัปดาห์นี้จะใช้เงินประมาณเท่าไหร่ ไม่ใช่ตั้งเป้าหมายแค่ว่าให้ใช้เงินน้อยที่สุด

แยกเงินออกเป็นส่วนๆ (Separate budgets)

การจะเก็บเงินได้ดีนั้น การมีระเบียบในการใช้เงินถือเป็นเรื่องสำคัญ เราควรทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อจะได้รู้ว่าเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง หรือเงินที่หายไปนั้น เราเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง และเราควรแยกเงินของเราแต่ละส่วนออกมาว่าส่วนไหนใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าช้อปปิ้ง เป้าหมายในการเก็บเงินในเดือนนี้ เป็นต้น หากคุณเอาแต่คิดว่าเดือนนี้ได้เงินมาเยอะ โบนัสก็เยอะ จะใช้จ่ายเยอะยังไงก็ได้ บอกเลยว่าคิดผิดแล้ว เพราะว่าการที่เราหลงคิดว่าเงินเรามีเยอะแล้วใช้จ่ายเยอะนี่แหละ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราใช้เงินความจำเป็นอยู่บ่อยครั้ง

ตรวจดูยอดเงินเสมอ (Watch your balance)

การตรวจดูเงินของเราเป็นประจำเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่าตอนนี้เรามีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่แล้ว และที่สำคัญยังเป็นการย้ำเตือนให้เราใช้เงินอย่างระมัดระวังอีกด้วย เพราะหากเราใช้เงินแบบไม่คิดหน้าคิดหลังอยู่บ่อยๆ ก็อาจทำให้เงินภายในบัญชีหรือกระเป๋าสตางค์ของเราหายไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้นเวลาที่ได้เงินเดือนมาก็ควรแยกค่าใช้จ่ายแต่ละอย่างให้ชัดเจนก่อน และทำแบบนี้อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะเงินขาดแคลนในช่วงสิ้นเดือน

สรุป

Nudge Theory เป็นทฤษฎีที่อธิบายเกี่ยวกับการผลักดันให้คนกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยอัตโนมัติอย่างสมเหตุสมผล ในการเก็บเงิน ถือเป็นทฤษฎีที่ช่วงให้คนสามารถเก็บเงินได้ในระยะยาวโดยที่ไม่ต้องฝืนใจทำหรือกดดันแต่อย่างใด ช่วยให้คุณมีวินัยในการเก็บเงิน สร้างนิสัยที่ดี และยังทำให้มีเงินเก็บใช้ในระยะยาวอีกด้วย

อ้างอิงจาก : Campus star

บทความแนะนำ

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life