สำหรับคนที่ไปเชียงราย มักจะรู้จักวัดดังๆ อย่างวัดร่องขุนหรือวัดพระแก้ว แท้จริงแล้ว มีอีกวัดหนึ่งที่สวยงามไม่แพ้วัดใดในเชียงรายเลย นั่นก็คือ “วัดขัวแคร่” วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นที่ตัวของพระวิหาร ซุ้มประตูของวิหาร ครอบด้วยสแตนเลสและอยู่ติดกับถนน ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนมาก ใครที่มาเที่ยวในตัวอำเภอเมืองเชียงรายก็สามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมที่วัดขัวแคร่ได้
วัดขัวแคร่ ตั้งอยู่เลขที่ 522 ถนนพหลโยธิน หมู่ที่ 1 บ้านขัวแคร่ ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ 10 ไร่ 88 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 89969 เลขที่ 900 หน้าที่ 69
ทิศเหนือ - จรดหนองน้ำขัวแคร่
ทิศใต้ - จรดถนนสาธารณะ
ทิศตะวันออก - จรดถนนพหลโยธิน
ทิศตะวันตก - จรดที่สาธารณะ
ที่ธรณีสงฆ์ 1 แปลง มีเนื้อที่ 56 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 101949 เลขที่ 102 หน้า 49
*วัดขัวแคร่สร้างสมัยใดไม่ปรากฏเด่นชัด*
โบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2547 (ทิศตะวันตกของวัด) คาดว่ามีอายุราวพุทธศักราช 18 – 23 แต่ปรากฏในหนังสือประวัติวัดทั่วอาณาจักร เล่ม 8 ของกองพุทธศาสนา กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2532 หน้าที่ 360 – 361 วัดขัวแคร่สร้างเมื่อ พ.ศ.2439 ได้พระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2520 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2553 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 10 เมตร ยาว 18 เมตร
การบริหารการปกครอง (มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบ) ดังนี้
- 1. พระจันทิมา ปูคา พ.ศ.2462 – 2466
- 2. พระศรีนวล คำบุญเรือง พ.ศ.2467 – 2477
- 3. พระผัด แสงดา พ.ศ.2477 – 2482
- 4. พระเทพสอน พ.ศ.2483 – 2485
- 5. พระคำปัน สุวรรณโณ พ.ศ.2486 – 2490
- 6. พระอินจันทร์ พ.ศ.2491 – 2494
- 7. พระทองใส พ.ศ.2494 – 2506
- 8. พระอินปั๋น พ.ศ.2506 – 2518
- 9. พระอธิการเล็ก ยโสธโร พ.ศ.2518 – 2526
- 10. พระอธิการผัด ปัญญาทีโป พ.ศ.2526 – 2535
- 11. พระมหาถาวร ยโสธโร (จันต๊ะคำ) พ.ศ.2536 – ปัจจุบัน
ความเดิมตามคำบอกเล่า
ขัว หมายถึง สะพาน
แคร่ หมายถึง ไม้ไผ่ที่นำมาผ่าเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาปูเป็นพื้น
ขัวแคร่ หมายถึง สะพานที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ซีกเล็กๆ ปูเป็นพื้นทางเดิน สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่มาแต่ก่อน บนพื้นที่สันดอนใกล้หนองน้ำและละเหมืองขัวแคร่ ปรากฏมีซากโบราณสถาน ซากอิฐหลายแห่งทั้งที่รกร้างและเกือบไม่มีหลายแห่ง เช่น
- 1. กู่คำ (บริเวณโรงเรียนบ้านขัวแคร่ติดลำเหมืองขัวแคร่) ถูกรื้อหมดแล้ว เหลือเพียงเศษอิฐเล็ก ๆ น้อย ๆ
- 2. กู่แดง (บริเวณทิศตะวันออกของบ้านขัวแคร่ หมู่ 1 ใกล้หนองบัวคำ) ยังเหลือซากอิฐและเนินดินของพระธาตุอยู่
- 3. ทุ่งกู่ (บริเวณทิศใต้บ้านขัวแคร่ หมู่ 17 ติดลำเหมืองขัวแคร่) ถูกรื้อทิ้งหมดแล้ว
- 4. กู่สันกอไฮ (บริเวณทิศใต้บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ 14 ติดลำเหมืองขัวแคร่) ถูกรื้อขุดเหลือซากอิฐให้เห็นอยู่เล็ก ๆ น้อย ๆ
- 5. กู่ขาว (บริเวณหลังวัดขัวแคร่ ติดลำเหมืองขัวแคร่) เหลือซากอิฐให้เห็นอยู่
- 6. ลำเหมืองขัวแคร่ เป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชน แต่กาลก่อนจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 41 ไร่ 2 งาน
- 7. หนองบัวคำ (บริเวณทิศตะวันออกบ้านขัวแคร่ หมู่ 1) เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่
ทิศตะวันตก เป็นภูเขา
ทิศตะวันออก เป็นที่ราบลุ่ม "อู่ข้าว อู่น้ำ"
ทิศเหนือ - ใต้ เป็นที่ราบลุ่ม "อู่ข้าว อู่น้ำ"
ดังนั้นจึงเป็นที่กลุ่มชนต่างๆ อพยพมาตั้งถิ่นฐานทั่วบริเวณ อาทิเช่น จากสิบสองปันนา เชียงรุ้ง เชียงตุง มาพักตั้งถิ่นฐานแต่กาลก่อน โดยมีพระนางเจ้าเทพคำขยาย พระราชมารดาของ พ่อขุนมังรายมหาราช พร้อมด้วยบริวารผู้คน ได้มาพักบริเวณนี้และกาลเวลาได้เปลี่ยนไปก็เสื่อมสูญตามสภาวธรรมตามวันเวลา
จนมาถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มชนจากสิบสองปันนา เชียงรุ้ง เชียงตุง ได้มาตั้งถิ่นฐาน บ้านเรือนเพื่อพักสินค้า และค้าขายสินค้ากับตัวเมืองเชียงราย
ต่อมามีกลุ่มชนจากเชียงใหม่ อ.สันกำแพง บ้านสันต้นเปา, บ่อสร้าง, หนองโค้ง, ป่าเส้า อ.ดอยสะเก็ด, บ้านสันต้นม่วงใต้ เป็นต้น ได้มาบุกเบิกไรนาสร้างเรือน อันเป็นกลุ่มชนที่มีมากที่สุดในหมู่บ้านปัจจุบัน
ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านขัวแคร่ได้ใช้เป็นคลังเสบียง คลังน้ำมัน และบริเวณวัดได้เป็นค่ายที่พักของเหล่าทหารไทย โดยการนำของจอมพลผิน ชุณหะวัณ โดยกองทัพได้นำก้อนหินผามาถมบริเวณวัด และถนนในหมู่บ้านทิศตะวันตก เป็นระยะทางประมาณ 1,300 เมตร ปัจจุบันได้เทคอนกรีตทับหมดแล้ว ไม่ปรากฎให้เห็น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง กลุ่มชนจากจังหวัดพะเยาก็ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน บุกเบิกทำไร่ ทำนา สร้างบ้าน สร้างเรือนสมทบอีกกลุ่มหนึ่ง
ดังนั้น บ้านขัวแคร่มีกลุ่มชนหลายหมู่ คือ
- คนสิบสองปันนา เชียงรุ้ง (คนลื้อ)
- คนเชียงตุง (คนไทยใหญ่)
- คนเมืองยอง (คนยอง)
๔. คนเชียงใหม่ - พะเยา - เชียงราย (คนเมือง)
ต่อมามีประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงแยกการปกครองเป็น 3 หมู่บ้าน คือ
- บ้านขัวแคร่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านดู่
- บ้านเหล่าพัฒนา หมู่ที่ 14 ตำบลบ้านดู่
- บ้านขัวแคร่ หมู่ที่ 17 ตำบลบ้านดู่
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://watkhuakhraemuangchiangrai.blogspot.com/
บทความแนะนำ