เปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี กับพิพิธภัณฑ์บ้านดำ
บ้านดำหรือพิพิธภัณฑ์บ้านดำ หนึ่งในผลงานศิลปินแห่งชาติอย่างอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่มีฝีมือทั้งทางด้านจิตรกรรม ปฏิมากรรม และผลงานศิลปะอีกมามาย สำหรับพิพิธภัณฑ์บ้านดำมีงานศิลปะเกี่ยวกับบ้านไม้ มีรูปแบบตามล้านนา บ้านปูนรูปทรงแปลกตา และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดก็คือบ้านเกือบทุกหลังเป็น ‘สีดำ’ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านดำ’ และยังเป็นสีโปรดของอาจารย์ถวัลย์อีกด้วย นอกจากนี้บ้านแต่ละหลังยังมีการประดับตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและสัตว์ เช่น เขาควาย เขากวาง หนังจระเข้ เปลือกหอย และกระดูกสัตว์ต่างๆ
หากใครเคยไปวัดร่องขุ่นจะเห็นว่าวัดร่องขุ่นเป็นสีขาวล้วนทั้งหมดซึ่งออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งตรงข้ามกับสีดำอย่างพิพิธภัณฑ์บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ทำให้เกิดคำพูดการเปรียบเทียบของสองสถานที่นี้ขึ้นมาว่า “เฉลิมสร้างสวรรค์ ถวลัย์สร้างนรก”
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
นายถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คน ได้แก่ พ.ต.สว่าง ดัชนี นายสมจิตต์ ดัชนี และนายวสันต์ ดัชนี สมรสกับนางคำเอ้ย มีบุตรชาย 1 คน คือ นายดอยธิเบศร์ ดัชนี ปัจจุบันเสียชีตลงด้วยอายุ 74 ปีในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2557 ที่โรงพยาบาลรามคำแหง กรุงเทพมหานคร
ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
นับแต่เรียนสำเร็จชั้นมัธยมที่จังหวัดเชียงราย ถวัลย์ได้เข้าเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างด้วยทุนการศึกษาของจังหวัดเชียงรายและเป็นนักเรียนเพาะช่าง ดีเด่นด้วยฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงที่แม่นยำฉับไว ภาพวัดเบญจมบพิตรได้รับเลือกให้แสดงในหอศิลปแห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นและแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติ ประเทศไทย
เมื่อจบจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2500 ถวัลย์ได้เดินตามแนวทางของดำรง วงศ์อุปราช จิตรกรรุ่นพี่ นักเรียนทุนจากลำปาง ซึ่งเป็นผู้จุดประกายให้เขาสอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม ปฏิมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และสถาบันแห่งนี้ได้หล่อหลอมให้ถวัลย์พัฒนางานจากภาพวาดเหมือนจริงไปเป็นภาพวาดที่ให้ความรู้สึกประทับใจ (Impressionism) แบบไทย แล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างถวัลย์ ดัชนี กับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตและวิธีคิดที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขาเป็นอย่างยิ่ง
ถวัลย์ ดัชนี จัดเป็นบัณฑิตคนหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นที่สามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าไม่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นแท้จริงแล้วจะได้เพียงอนุปริญญา และหลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ด้วยการสนับสนุนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีในเวลานั้น ถวัลย์ได้รับทุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรมและการศึกษา ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเป็นเวลา ๕ ปี ที่ราชวิทยาลัยศิลปแห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ระหว่างที่ศึกษาศิลปะที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลงานการสร้างสรรค์ของถวัลย์โดดเด่นเป็นที่นิยมชมชอบของวงการศิลปะสากลอย่างกว้างขวาง จึงได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมสัมมนาทางศิลปะระดับนานาชาติอยู่เสมอ ทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันทางศิลปะให้จัดแสดงผลงานที่เรียกว่า One Man Show และแสดงกลุ่มมากมายหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศนับตั้งแต่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย
เมื่อเข้าไปจะได้พบกับ ‘วิหารเล็ก’ ไม้บนฐานบัว ตัวพื้นทำมาจากหินแกรนิต มีพุทธรูปไม้แกะสลักด้านใน ซุ้มประตูเป็นงานศิลปะรัตนบุระอังวะ
บ้านไม้สามเหลี่ยมหรืออีกชื่อคือ ‘ไตรภูมิ’ ที่หมายถึง นรก สวรรค์ และโลก ในธรมมะ ด้านในหนังของสัตว์เลื้อยคลานหลายประเภท เช่น งู จระเข้ และเขาสัตว์
หนึ่งในศิลปหัตถกรรมที่สวยงามที่มีพระพระไม้ สกุลช่างไทยใหญ่ทั้ง 4 อิริยาบถ คือนั่ง นอน ยืน และเดินใน ‘ศาลาพระสี่อิริยาบถ’
อาคารชั้นเดียว มีต้นงิ้วขึ้นรอบตัวอาคาร โครงสร้างทั้งหมดสร้างจากไม้กับอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะหรือ ‘มหาวิหาร’
อาคารสีขาวท่ามกลางบ้านสีดำ รูปทรงเตารีดผ้าถ่านโบราณ ‘นอแรดในรุ้งดาว’ หรืออูบเตารีดจัดแสดงชุดเฟอร์นิเจอร์จากทุกมุมโลก
‘อูปปรภพ’ หรือห้องจิตวิญญาณ อาคารสีขาวทรงเตี้ยคล้ายเตาเผาถ่าน ภายในมีเก้าอี้เขาควาย จระเข้ หอยขนาดใหญ่ และรูปแกะสลักพื้นเมือง
‘ห้องน้ำหมื่นหก’ กับศิลปะที่ได้แรงบันดาลใจมาจากญี่ปุ่น ประดับด้วยนกที่แกะสลักจากไม้ ภายในมีอ่างอาบน้ำแบบญี่ปุ่น รวมถึงไฟดาวแมลง
สำหรับผู้ที่สนใจในงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สามารถเข้าชมได้ที่ ‘บ้านดำแกลเลอรี่’ ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะและจัดจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึก เช่น เสื้อยืด กระเป๋า ภาพิมพ์ หนังสือ ฯลฯ โดยรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย จะนำไปเป็นกองทุนสำหรับบำรุงพิพิธภัณฑ์บ้านดำ และเพื่อนักเรียน นักศึกษาศิลปะที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
นอกจากนี้ยังมีการแสดงของชาวล้านนาให้ได้รับชมกันอีกด้วย ทั้งชุด เสื้อผ้า และรูปแบบการแสดง เรียกกันได้เลยว่าแสดงออกถึงความเป็นชาวล้านนามาก
หลังจากที่เดินกันจนเหนื่อยแล้ว เราก็สามารถมาแวะพักกันได้ที่ ‘ร้านกาแฟศิลปิน Café De La Arte’ ร้านกาแฟแห่งนี้ได้มีการออกแบบและก่อสร้างโดยนายดอยธิเบศร์ ดัชนี ลูกชายของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี โดยมีแรงบันดาลใจมาจากห้องเชิดชูเกียรติ Hall of Frame แกลเลอรี่ Gallery และร้านกาแฟ Coffee shop
วันเวลาในการเยี่ยมชม : ทุกวันจันทร์ - อาทิตย์ ตลอดวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09-00 - 17.00 น.
อัตราค่าเข้าชม : 80 บาท ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
::: ผู้ที่ได้รับยกเว้นค่าเข้าชม :::
- เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หรือสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร
- นักเรียน/นักศึกษา ในเครื่องแบบหรือแสดงบัตรนักศึกษา
- ข้าราชการ ในเครื่องแบบหรือแสดงบัตร
- มักกุเทศก์ ที่แสดงบัตรประจำตัว
- พระภิกษุสงฆ์ ผู้ทรงศีลทุกศาสนา
- สตรีมีครรภ์
- ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพทุกประเภท
- องค์กร/หน่วยงาน ของภาครัฐและเอกชนผู้ซึ่งติดต่อมาล่วงหน้า
- โรงเรียน/สถาบันการศึกษาที่มาทัศนศึกษา
การเดินทางโดยรถส่วนตัว
เดินทางจากตัวเมืองเชียงรายไปทางแม่สาย ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายไปประมาณ 3 กิโลเมตรจนถึงหมู่บ้านนางแล ข้างๆ จะเห็นบริษัทเสริมสุข ให้เลี้ยวเข้าซอยถัดไป จะมีป้ายสีฟ้าบอกทางเป็นระยะประมาณ 300 เมตร
การเดินทางโดยรถประจำทาง
ขึ้นรถที่สถานีขนส่งฯ แห่งที่ 1 (เก่า) รถเมล์สีเขียวสายเชียงราย-แม่สาย ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายไปประมาณ 3 กิโลเมตรจะเห็นบริษัทเสริมสุข ให้ลงป้ายนี้ แล้วเดินหรือนั่งมอเตอร์ไซต์เข้าไปประมาณ 300 เมตร
ที่อยู่ : 333 ม.13 ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57100 ประเทศไทย
ติดต่อ : โทร./แฟ็กซ์ 053 - 776 - 333 มือถือ: 083 - 336 – 5333
เว็บไซต์ : www.thawan-duchanee.com
รูปบางส่วนจาก : เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์บ้านดำ