ตอนนี้ได้เกิดข่าวดังที่ได้กลายเป็นกระแสไปทั่วทั้งประเทศไทยเกี่ยวกับการเกิดฟ้าผ่าที่ศูนย์บ้านถวน ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ “ครูนก” เสียชีวิต ขณะกำลังเตรียมแผนการสอนกับเพื่อนครู “ครูจ๋า” ส่วนเพื่อนครูได้รับบาดเจ็บ ด้านครอบครัวและลูก 2 ขวบของครูนกได้รับความเดือดร้อนหนัก เพราะต้องเสียเสาหลักของครอบครัวไป
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสะเทือนขวัญของใครหลายคนและยังเป็นข้อเตือนใจในช่วงที่ฝนตกอีกด้วย เนื่องจากในคืนที่เกิดเหตุได้เกิดฝนตกลงมาเล็กน้อย และมีฟ้าผ่าเสียงดัง ทำให้ครูนกถูกแรงอัดจากสายฟ้าผ่าเสียชีวิตคาที่ ส่วนครูจ๋าก็ได้รับบาดเจ็บ
โดยปกติแล้ว เราไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการตรวจเช็คว่าฟ้าจะผ่าหรือไม่ แต่เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆ เช่น หากมีฝนตกอยู่ รวมถึงมีฟ้าผ่า แล้วเส้นขนบนร่างกายเกิดลุกชันขึ้นหรือแม้แต่เส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น ก็เป็นสัญญาว่าเรากำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าอยู่ หรือหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองในระยะประมาณ 16 กิโลเมตรจากเรา แล้วมีฟ้าผ่า และได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังฟ้าแลบน้อยกว่า 30 วินาที แสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่า ต้องเพิ่มความระมัดระวัง
ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า (Thunder) เกิดจากอะไร?
ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า (Thunder) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งเกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุอิเล็กตรอนภายในก้อนเมฆ หรือระหว่างก้อนเมฆกับก้อนเมฆ หรือเกิดขึ้นระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน การเคลื่อนที่ขึ้นลงของกระแสอากาศ (updraft/downdraft) ภายในเมฆคิวมูโลนิมบัส ทำให้เกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าในแต่ละบริเวณของก้อนเมฆและพื้นดินด้านล่าง เมื่อความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างตำแหน่งทั้งสองที่มีค่าระดับหนึ่ง จะก่อให้เกิดสนามไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยมีประจุบวกอยู่ทางด้านบนของก้อนเมฆ ประจุลบอยู่ทางตอนล่างของก้อนเมฆ พื้นดินบางแห่งมีประจุบวก พื้นดินบางแห่งมีประจุลบ ซึ่งจะเหนี่ยวนำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้า
ฟ้าแลบ - เมื่อประจุลบบริเวณฐานเมฆถูกเหนี่ยวนำเข้าหาประจุบวกที่อยู่ด้านบนของก้อนเมฆ ทำให้เกิดแสงสว่างในก้อนเมฆ หรือประจุไฟฟ้าลบบริเวณฐานเมฆก้อนหนึ่งถูกเหนี่ยวนำไปหาประจุบวกในเมฆอีกก้อนหนึ่ง จะมองเห็นสายฟ้าวิ่งข้ามระหว่างก้อนเมฆ
ฟ้าผ่า - เมื่อประจุลบบริเวณฐานเมฆถูกเหนี่ยวนำเข้าหาประจุบวกที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าจากก้อนเมฆพุ่งลงสู่พื้นดิน ในทางกลับกัน ประจุลบที่อยู่บนพื้นดินถูกเหนี่ยวนำเข้าหาประจุบวกในก้อนเมฆ มองเห็นเป็นฟ้าแลบจากพื้นดินขึ้นสู่ท้องฟ้า
ฟ้าร้อง - เมื่อเกิดฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าในอากาศทำให้อากาศในบริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูงมากจนขยายตัวอย่างฉับพลัน ส่งผลให้เกิดช็อกเวฟ (Shock wave) ส่งเสียงดังออกมา
คำแนะนำในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการถูกฟ้าผ่า แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
- ขณะเกิดฝนฟ้าคะนองหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ สนามกอล์ฟ ฯลฯ
กรณีหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ได้ ให้ปฏิบัติดังนี้
- อย่าอยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า
- ห้ามกางร่ม และอย่าถือวัตถุที่ชูสูงขึ้นไปจากตัว เช่น เบ็ดตกปลา ไม้กอล์ฟ เป็นต้น
- ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้นหากถูกฟ้าผ่า เนื่องจากโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มีวัสดุจำพวกโลหะเป็นส่วนประกอบ ซึ่งโลหะจะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำคลื่นไฟฟ้า มีผลทำให้แบตเตอรี่เกิดการลัดจรและเกิดการระเบิดได้ รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย
- ถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย เนื่องจากโลหะมีความต้านทานไฟฟ้าต่ำ จึงทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านในปริมาณมากก่อให้เกิดความร้อนและเกิดการลุกไหม้ได้
- กรณีอยู่ที่โล่งแจ้ง หาที่หลบไม่ได้ ควรนั่งยองๆ เท้าชิด มือปิดหู (เพื่อป้องกันเสียง) เขย่งปลายเท้า อย่านอนราบ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีกระแสไหลมาตามพื้น ท่านั่งลดอันตรายจากฟ้าผ่า
- กรณีอยู่ในอาคาร ควรปฏิบัติดังนี้
- ไม่ควรออกจากอาคารในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
- ควรปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน และควรอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง
- ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเทอร์เน็ต และควรถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด รวมทั้งควรดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออกด้วย เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอันจะเป็นสาเหตุให้เกิดอัคคีภัยหากเกิด ฟ้าผ่าลงมาที่บ้าน
- ในขณะที่เกิดฝนฟ้าคะนองและฟ้าผ่า ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับจุดที่ไฟฟ้าสามารถวิ่งเข้าสู่ตัวเราได้ เช่น สายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ บริเวณน้ำท่วมขัง และควรอยู่ห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ถอดสาย
วิธีปฐมพยาบาล สำหรับผู้ที่ถูกฟ้าผ่า
- ก่อนอื่นให้สังเกตว่า ในบริเวณที่เกิดเหตุยังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามี ก็ต้องทำการเคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันตัวเราเองจากการถูกฟ้าผ่า
- เราสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ดังนั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าเราจะถูกไฟฟ้าดูด (ต่างจากกรณีคนที่ถูกไฟฟ้าดูด)
- การปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกฟ้าผ่า จะใช้วิธีเดียวกับผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อต หากได้รับบาดเจ็บ หมดสติไม่รู้ตัว หัวใจหยุดเต้น และไม่หายใจ ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้น คือ ริมผีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหว ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ถ้าหัวใจหยุดเต้นจะคล้ำชีพจรไม่พบม่านตาขยายค้างไม่หดเล็กลง หมดสติไม่รู้สึกตัว ต้องรีบทำการปฐมพยาบาลทันที เพื่อให้ปอดและหัวใจทำงาน โดยวิธีการผายปอดด้วยการให้ลมทางปาก หรือที่เรียกว่า “เป่าปาก” ร่วมกับนวดหัวใจ โดยวางมือตรงกึ่งกลางลิ้นปี่เล็กน้อย ถ้าทำการปฐมพยาบาลคนเดียวให้นวดหัวใจ 15 ครั้ง สลับกับการเป่าปาก 2 ครั้ง ถ้าทำการปฐมพยาบาลสองคน ให้นวดหัวใจ 5 ครั้งสลับกับการเป่าปาก 1 ครั้ง ก่อนนำผู้ป่วยส่งแพทย์ต่อไป
สรุป
เหตุการณ์ฟ้าผ่า เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่สามารถคาดเดาได้และไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการตรวจสอบว่าเราจะโดนฟ้าผ่าหรือไม่ ถึงแม้จะมีการทดสอบว่าโทรศัพท์มือถืออาจไม่ใช่สื่อให้สายฟ้าผ่าฟาดลงมาได้ก็ตาม แต่เราก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานในขณะฝนตกจะดีกว่า ควรใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง นี่เป็นวิธีในการป้องกันตัวเองและลดความเสี่ยงได้มากที่สุด เพราะหากพลาดเพียงแค่ครั้งเดียว เราอาจจะไม่มีโอกาสกลับมาแก้ไขใหม่เป็นครั้งที่สองแน่ๆ เพราะการที่โดนฟ้าผ่านั่น หมายความว่าเราอาจถูกคร่าชีวิตไปเลยในทันที
ข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, NATIONAL GEOGRAPHIC ASIA, สวทช.
บทความแนะนำ
- กรมควบคุมโรค แนะยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อ ในช่วงโควิด-19
- กรมอนามัยแนะทานอาหารหลากหลาย ป้องกัน Covid-19
- เชื้อโรคร้าย ๆ ถูกขจัดง่าย ๆ ด้วยการล้างมือให้สะอาด
- หน้ากากอนามัย เลือกแบบไหน เหมาะป้องกันฝุ่น PM 2.5