จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ทำให้มีหลายบริษัทที่ตัดสินใจไล่พนักงานออกหรือปิดบริษัท เนื่องจากไม่มีทุนทรัพย์ในการดูแลบริษัทอีกต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังลามไปทั่วทั้งโลก ยิ่งอัตราการติดโควิด-19สูงขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้อัตราคนว่างงานสูงขึ้นมากเท่านั้น เพราะบริษัทไม่สามารถช่วยเหลือบริษัท พนักงาน หรือแม้กระทั่งตัวเองได้อีกต่อไปแล้ว
เมื่อเกิดวิกฤตเช่นนี้ ทำให้หน่วยงานรัฐต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกไล่ออกจากบริษัทหรือกำลังว่างงานอยู่ในตอนนี้ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบควรตรวจสอบสิทธิที่ตนเองพึงได้ แต่หลายคนอาจจะยังเริ่มต้นชนปลายไม่ถูกว่าควรทำอะไรบ้าง ดังนั้นมาดูกันดีกว่าว่าเรื่องอะไรบ้างที่คุณควรรู้ สิทธิประโยชน์อะไรที่จะได้รับหลังจากนี้ และเมื่อนายจ้างเลิกจ้างกะทันหันเนื่องจากโควิด-19 ต้องระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง
- ค่าชดเชยคืออะไร
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยการจ่ายค่าชดเชยจะเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งพิจารณาอัตราค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง
- ถูกเลิกจ้างแบบไหนถึงจะได้ค่าชดเชย
สำหรับลูกจ้างที่จะได้เงินชดเชยจากนายจ้างนั้น จะต้องทำงานครบ 120 วันขึ้น และถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจ ไม่ว่าเจ้านายจะแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม โดยสามารถแบ่งเหตุผลออกได้เป็น ดังนี้
- ลาออกเองโดยสมัครใจ
- ทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
- ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
- ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในจำคุก
- สัญญาจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน
ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่
เมื่อถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใดๆ เงินชดเชยที่ได้จะขึ้นอยู่กับเงินเดือนและอายุงาน
- ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน (1 เดือน)
- ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน (3 เดือน)
- ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน (6 เดือน)
- ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน)
- ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน)
- ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
ตัวอย่าง : นายมานะทำงานมาแล้ว 4 ปี ได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 25,000 บาท และโดนบอกเลิกจ้างโดยไม่สมัครใจ ดังนั้น นายมานะจะได้รับเงินชดเชย 25,000 x 6 เดือน (180 วัน) เท่ากับ 150,000 บาท
- ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
การเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้สมัครใจ อีกทั้งยังไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จะได้สิ่งที่เรียกว่า “ค่าตกใจ” เพิ่มเติมด้วย ตามกรณีดังต่อไปนี้
- กรณีเลิกจ้างทั่วไป
ตามปกติแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง หมายความว่าถ้าได้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนรอบละ 30 วัน นายจ้างจะต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบอย่างน้อย 30 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน หรือถ้าได้รับค่าจ้างเป็นรายสัปดาห์ ก็ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ไม่เช่นนั้น จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับ 7 วัน
- กรณีเลิกจ้าง เพราะการปรับปรุงหน่วยงาน
กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ เนื่องมาจากนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร เปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี จนต้องลดจำนวนลูกจ้างลง ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วันหากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วันหรือ 2 เดือน
อีกทั้ง หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 15 วันต่อการทำงานครบรอบ 1 ปี (รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้างอัตราสุดท้าย 360 วัน)
- กรณีเลิกจ้าง เพราะย้ายสถานประกอบกิจการ
ต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้ง จะได้รับเงินชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันหรือ 1 เดือน หรือหากมีการบอกล่วงหน้าถูกต้อง แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ด้วย ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของค่าชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิได้รับ
- เงินชดเชยการถูกเลิกจ้าง จะได้รับตอนไหน
ปกติแล้วนายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน แต่หากถึงตอนนั้นแล้วยังไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว สามารถยื่นร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากถือว่าเป็นการเข้าข่ายการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สำหรับใครที่ต้องเจอกับปัญหาการถูกเลิกจ้างงานแบบไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “สติ” อย่าเพิ่งโวยวายหรือท้อแท้กับชีวิตไป ทุกปัญหามีทางออกเสมอ เราจ้องพยายามอดทนและเตรียมตัวให้พร้อมกับการรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามา และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “การวางแผนการเงิน” หลังจากที่เราได้รับเงินค่าชดเชยมาแล้ว เรายังต้องใช้เวลาในการหางานและประคับประคองตัวเอง รวมถึงครอบครัวจนกว่าจะหางานใหม่ทำได้
ข้อมูลจาก : The Bangkok Insight
บทความแนะนำ