‘วัยทำงาน’ หนึ่งในช่วงอายุคนที่พบว่ามีปัญหาด้านสุขภาพค่อนข้างมาก มองจากภายนอกอาจจะเป็นวัยที่ไม่น่าจะมีปัญหามาก เพราะยังแข็งแรงอยู่ แต่จริงแล้ว วัยทำงานนี่แหละที่เจ็บป่วยบ่อยและสาเหตุที่สำคัญก็มักจะมาจากการทำงานและการลืมดูแลตัวเอง ดังนั้นการป้องกันโรคที่ดีและการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมจึงน่าจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่คนในวัยนี้ได้

Work-Life balance หรือสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในวัยทำงาน เพราะบางคนไม่สามารถจัดการชีวิตส่วนตัวได้ บางทีก็ใช้ชีวิตกับการทำงานมากเกินไปจนทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม หรือคนที่ใช้ชีวิตส่วนตัวมากเกินไปจนทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน เราจึงควรจัดการชีวิตของเราให้เป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น และต้องการดูแลสุขภาพของตัวเองมากกว่าเดิม

 

1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวันน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของวัยทำงานหลายคน เพราะต้องตื่นเช้าไปทำงาน ป้องกันการเจอปัญหารถติดหรือเหตุขัดข้องต่างๆ และต้องกลับจากที่ทำงานดึก เพราะว่างานไม่เสร็จหรือมีงานเร่งด่วนเข้ามา ในช่วงอายุ 26-64 ปี ควรนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน บางคนอาจต้องการการนอนที่น้อยหรือมากกว่านั้น เช่น 6 ชั่วโมง หรือ 10 ชั่วโมงต่อวัน

หากต้องการทราบว่าเราต้องการเวลาในการนอนมากเท่าไร ให้สังเกตจากประสิทธิภาพในการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง เช่น การไม่ง่วงหลับระหว่างวัน ความคิดและการตอบสนองที่ฉับไว เป็นต้น

 

2.รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

ยิ่งนับวัน อายุของเราก็เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สมรรถภาพทางร่างกายก็เริ่มลดน้อยลง ทำให้ร่างกายของเราต้องการการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษามากขึ้นกว่าเดิมเหมือนกับรถยนต์ที่เราใช้มาเป็นเวลานาน ต้องการการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ

โดยทั่วไปแล้ว หลักการทานอาหารที่ดี ควรจะทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย นอกจากนี้ยังควรคำนึงถึงสมดุลระหว่างแคลอรี่ที่ได้รับและพลังงานที่ใช้ออกไปในแต่ละวัน ซึ่งหากทานมากกว่าที่ใช้ จะนำไปสู่โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ อีกมากมาย

 

3.การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การออกกำลังกาย หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย ช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง สดชื่น แจ่มใส มีสมาธิ เพิ่มพลังกาย พลังใจ พลังความคิด อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสม่ำเสมอของการออกกำลังกาย และต้องพยายามหลีกเลี่ยงท่าที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของร่างกาย

สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาไปออกกำลังกาย ลองหาวิธีการออกกำลังกายที่สามารถทำได้ที่บ้านหรือการออกกำลังกายง่ายๆ ดู รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในที่ทำงาน เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีด้วย

 

  1. ‘สุขภาพจิต’ ที่สำคัญไม่แพ้ ‘สุขภาพกาย’

กรมสุขภาพจิต เผยวัยทำงาน เป็นกลุ่มเกิดความเครียดได้สูง เผยในรอบ 3 ปี พบวัยทำงานอายุ 22-59 ปี โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 สูงอันดับ 1 รวม 100,000 กว่าสาย   เรื่องที่ปรึกษามากสุด 3 อันดับแรกคือ เรื่องการกินยารักษาอาการป่วยทางจิตใจ ความเครียดวิตกกังวล และสารเสพติด จากปัญหาดังกล่าวก็สามารถทราบได้แล้วว่าวัยทำงานมีความเครียดและความกดดันจากสิ่งต่างๆ มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำงานหรือเรื่องอนาคต สาเหตุมาจากทั้งตัวเองและคนรอบข้าง

ใครที่คิดว่าสุขภาพจิตไม่สำคัญเท่าสุขกายไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะเวลาที่สุขภาพจิตของเราย่ำแย่ ส่งผลให้สุขภาพของเราย่ำแย่ไปด้วย การจะดูแลสุขภาพจิตให้ดี ควรเริ่มต้นที่ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก ปรับไปทีละนิดทีละน้อย ไม่ต้องเร่งรีบ

 

5.หากิจกรรมทำยามว่าง

เชื่อว่าหลายๆ คนมักจะมีลูปชีวิตที่ซ้ำไปซ้ำมาอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือ ตื่นเช้าไปทำงาน กินข้าว เลิกงานก็กลับบ้าน ทำแบบนั้นซ้ำไปมาตลอดทั้งสัปดาห์ วันหยุดก็เอาแต่นอนติดเตียง ไม่ก็หาอะไรกินแล้วก็น้อย ลองหากิจกรรมที่ตัวเองชอบแล้วทำดูดีไหม? เป็นการช่วยหลีกเลี่ยงความรู้สึกเบื่อหน่ายจำเจทุกวี่ทุกวัน และยังเป็นการช่วยทำให้เราผ่อนคลายจากงานที่ตึงเครียดและพัฒนาศักยภาพของเราอยู่ตลอดเวลาด้วย

 

สรุป

สำหรับใครที่กำลังเข้าสู่วัยทำงานหรือกำลังทำงานอยู่ในตอนนี้ คุณควรเริ่มดูแลสุขภาพของตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะตอนนี้คุณไม่ใช่เด็กน้อยวัยใสที่สามารถแข็งแรงและร่าเริงได้ตลอดเวลาแล้ว เมื่ออายุมากขึ้น การดูแลสุขภาพก็กลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นกว่าเดิมและได้ผลไม่ได้ดีเท่าที่ควร หันมาใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพใจกันมากกว่าเดิม เพื่อร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพจิตที่สดใส และอายุที่ยืนยาว ไปพร้อมกับภาระหน้าที่การงานที่ต้องทำกันเถอะค่ะ

 

บทความแนะนำ

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life