วิศวกรไฟฟ้า ถือเป็นอีกอาชีพที่ทุกคนเคยได้ยินกันมาหลายครั้ง เวลาที่ต้องเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย หนุ่มๆ สาวๆ ก็มักจะเลือกเรียนในสาขาวิชานี้เช่นกัน เหตุใดวิศวกรไฟฟ้าจึงเป็นอาชีพที่มีคนอยากทำงานด้านนี้เป็นจำนวน มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไร แล้วถ้าเราอยากจะเป็นวิศวกรไฟฟ้าบ้าง ต้องมีการเตรียมอย่างไร ทุกคนสามารถหาคำตอบเหล่านี้ได้จาก JobsChiangrai
รู้จักอาชีพ ‘วิศวกรไฟฟ้า’
วิศวกรไฟฟ้า เป็นผู้ทำการวางแผน ออกแบบ ตรวจสอบ และบำรุงรักษา เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ซึ่งรวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ ระบบวงจรไฟฟ้าต่างๆ ด้วย จะสังเกตได้ว่า เราทุกคนต่างต้องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันกันเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เป็นอาชีพที่มีความใกล้ชิดกับผู้คนเป็นอย่างมาก เนื้องานหลักๆ ของวิศวกรไฟฟ้า ก็คือ การออกแบบแผนโรงงานไฟฟ้า คิดค้นอุปกรณ์ไฟฟ้า ดูแลสินค้าและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า บ้านเรือน ขนส่ง ระบบควบคุม ฯลฯ
วิศวกรไฟฟ้า ทำอะไรบ้าง
หากพูดถึงหน่วยงานใหญ่ๆ ที่น่าจะเป็นสายงานหลักของวิศวกรไฟฟ้า นั่นก็คือ หน่วยงานรัฐอย่าง ‘การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)’ ที่ต้องดูแลไฟฟ้าทั่วทั้งประเทศ ถืออยู่ในระดับมหภาพกันเลยทีเดียว โดยสามารถแบ่งสายงานวิศวกรไฟฟ้าได้ออกเป็น 2 สายหลัก ได้แก่
สายซ่อมบำรุงและดูแลรักษา
สำหรับสายซ่อมบำรุง จะทำการดูแลเกี่ยวกับไฟฟ้า ตั้งแต่ระดับโรงงานไปจนถึงบ้านเรือน อาจมีการแบ่งออกเป็นส่วนผลิตและส่วนภูมิภาค มีการวางแผนในเชิงป้องกัน สามารถแก้ไขอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง เช่น ฟ้าผ่าจนทำให้ระบบล่ม วิศวกรไฟฟ้าก็ต้องทำหน้าที่ซ่อมแซมระบบ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ไฟฟ้าได้อีกครั้ง เป็นต้น
สายออกแบบและติดตั้ง
สำหรับสายออกแบบและติดตั้ง จะมีความแตกต่างไปตามสถานที่ในการทำงาน เพราะแต่ละสถานที่จะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่เหมือนกัน ทำหน้าที่ในการคำนวณ คัดเลือกอุปกรณ์ เดินระบบไฟ สามารถทำงานได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หากทำงานในภาคเอกชน ก็จะเป็นการเปิดบริษัทตัวแทนในการจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดต่างๆ หรือ รับซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าหลังการขาย
คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นวิศวกรไฟฟ้า
- ทักษะในการคิดวิเคราะห์ ถือเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับอาชีพนี้ ต้องสามารถคิดแก้ปัญหา รวมไปถึงพัฒนาระบบไฟฟ้าต่างๆ ให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- ทักษะในการทำงานเป็นทีม เพราะต้องร่วมมือกับคนอื่น จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ต้องสามารถเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี
- ทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เวลาที่เกิดปัญหาขึ้นมา มักจะเกิดขึ้นแบบกะทันหัน ไม่ทันให้เราได้ตั้งตัว เมื่อเกิดเรื่องขึ้นปุ๊บ เราต้องสามารถหาวิธีแก้ปัญหาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้ปัญหาใหญ่กว่าเดิม
- ทักษะในการตัดสินใจ มีอยู่หลายครั้งที่เราต้องเลือกว่า ควรจะแก้ปัญหาจุดนี้อย่างไรดี ต้องทำอย่างไร ถึงจะทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด หรือ ไม่เกิดความเสียหายเลย
- ทักษะในการสื่อสาร สำหรับสายงานนี้ ต้องมีการสื่อสารกับทีมอื่นอยู่เสมอ เพื่อให้งานแต่ละฝ่ายสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้ตรงกัน จะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด
- ทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ นอกจากวิชาฟิสิกส์แล้ว วิชาคณิตศาสตร์ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะต้องใช้การคำนวณสิ่งต่างๆ
- ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ในวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มักจะใช้คำศัพท์หรือชื่อเรียกต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ รวมไปถึงตำราในการเรียนด้วย
- ทักษะการบริหารและการจัดการ งานของวิศวกรไฟฟ้าไม่ใช่งานที่จะสามารถรอเวลาได้ หากเกิดปัญหา ก็ต้องแก้ไขทันที และ ต้องอยู่ในระยะเวลาที่กำหนด มิเช่นนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายกับหลายๆ ฝ่าย
อยากเป็นวิศวกรไฟฟ้า ต้องเรียนอะไรบ้าง
สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานเป็น วิศวกรไฟฟ้า ในอนาคต ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่การเรียนระดับมัธยม โดยให้เลือกเรียน สายวิทย์ - คณิต เท่านั้น เพราะจำเป็นต้องใช้สองวิชานี้เป็นหลักในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย จากนั้น ให้เลือกเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศกรรมไฟฟ้า โดยมีตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่ทำการเปิดสอน ตามนี้
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยมหาสารคามคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และทรัพยากร สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและพลังงาน
- มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
เงินเดือนวิศวกรไฟฟ้า
สำหรับคนที่สงสัยว่า วิศวกรไฟฟ้า ได้เงินเดือนเท่าไหร่กันบ้าง ตรงนี้ แอดมินต้องขอบอกไว้ก่อนว่า สายงานของวิศวกรไฟฟ้า สามารถทำงานได้ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสามารถแบ่งเงินได้เดือนได้โดยประมาณ ดังนี้
หน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ
เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 18,000 – 25,000 บาท ปรับเงินเดือนไปตามตำแหน่งของอาชีพ โดยจะใช้หลักเกณฑ์ของทางภาครัฐเป็นหลัก แบ่งตำแหน่งออกได้ตามนี้
- วิศวกร
- หัวหน้าแผนก
- หัวหน้ากอง
- หัวหน้าฝ่าย
- ผู้ช่วยรองผู้ว่าการวิศวกรรม
- รองผู้ว่าการวิศวกรรม
- ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หน่วยงานภาคเอกชน
หน่วยงานเอกชน มีการให้เงินเดือนตามแต่ประสบการณ์และความสามารถในการทำงานของแต่ละคน โดยเฉลี่ยแล้ว อยู่ที่ประมาณ 25,000 – 30,000 บาทขึ้น และจะเติบโตในองค์ได้ตามตำแหน่ง ดังนี้
- วิศวกรไฟฟ้า ระดับ Junior
- วิศวกรไฟฟ้า ระดับ Senior
- ผู้ช่วยผู้จัดการ
- ผู้จัดการ
- ผู้บริหาร
สรุป
วิศวกรไฟฟ้า อาชีพที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่เราคิด จะเห็นได้ว่า ไฟฟ้า มีความสำคัญกับเรามาก และผู้ที่ทำการคิดระบบ วางแผน พัฒนา และซ่อมบำรุง ก็คือ ‘วิศวกรไฟฟ้า’ นี่แหละ คนที่จะสามารถทำงานนี้ได้ ต้องมีความถนัดทางวิชาการในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงภาษาอังกฤษมากเป็นพิเศษ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คิดวิเคราะห์ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี สามารถทำงานได้ในหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เงินเดือนขึ้นอยู่กับโครงสร้างองค์กร ประสบการณ์ในการทำงาน และความสามารถในการทำงาน
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก NHP Electrical Engineering Products