ในการอยู่สังคมร่วมกันแบบนี้ มนุษย์ได้ตั้งบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่า ‘กฎหมาย’ ขึ้นมา เพื่อใช้ในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เมื่อมีผู้ที่กระทำความผิด ก็จะต้องมีผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ และเพื่อความยุติธรรม จึงได้มีการตั้ง ทนายความ ขึ้นมา เพื่อว่าความให้กับลูกความของตัวเองให้พ้นจากความผิด โดยยึดตามกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งอาชีพนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การท่องกฎหมายต่างๆ เท่านั้น แต่ต้องอาศัยไหวพริบและปฏิภาณด้วย ใครที่อยากเป็นทนายความ ก็ตาม JobsChiangrai มาเลย
รู้จักอาชีพ ‘ทนายความ’
อาชีพ ทนายความ เป็นอาชีพที่ใช้กฎหมายในการทำงานโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในประเทศ ต่างประเทศ หรือระหว่างประเทศก็ตาม ขึ้นอยู่กับสายงานของแต่ละคน โดยคนที่จะได้ทำงานเป็นทนายความ จะต้องมี ‘ใบอนุญาตให้ว่าความ’ ในการแก้ข้อกล่าวหาให้กับลูกความของตนเอง ให้พ้นจากโทษ โดยผ่านกระบวนการยุติธรรม
คนที่ทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่ มักจะทำเป็น ‘ทนายความอิสระ’ หากมีประชาชนหรือองค์กรใดต้องการให้ว่าความ ก็จะทำตามผู้คนหรือองค์กรนั้นๆ เพื่อแก้ต่างในคดีผ่านข้อกฎหมาย และอีกอาชีพที่น่าสนใจ คือ พนักงานอัยการ ที่ทำงานด้านกฎหมายให้กับหน่วยงานภาครัฐ
สายงานทนายความ
แม้ว่าจะเป็นการทำงานทางด้านกฎหมาย แต่ก็มีสายงานที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
ผู้พิพากษา
เป็นผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีภายในศาลอัยการ ทนายความจะเป็นผู้แก้ต่างให้กับลูกความ ส่วนผู้พิพากษามีหน้าที่รับฟังและทำการตัดสินว่า ใครเป็นคนถูก ใครเป็นคนผิด พร้อมบอกบทลงโทษที่คนทำผิดจะได้รับ
อัยการ
ทำหน้าที่คล้ายๆ กับทนายความ แต่นับเป็นเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนจากภาครัฐ หากมีการว่าความเกี่ยวกับคดีทางภาครัฐ มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินคดีตามกฎหมาย
ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย
มักเห็นได้ตามบริษัทต่างๆ หรือจะรับเป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายแบบอิสระก็ได้ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมาย ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ทำอะไรไม่ได้บ้าง ตรวจสอบดูร่างสัญญา จัดทำเอกสารทางกฎหมาย รวมไปถึงบริการต่างๆ ทางด้านกฎหมาย
นิติกร
เป็นชื่อตำแหน่งของผู้ที่ปฏิบัติงานทางด้านกฎหมายกับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น กรมปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ลักษณะงานของทนายความ
ทนายความ ทำหน้าที่ว่าความคดีอาญาและคดีแพ่ง และให้คำปรึกษากับลูกความของตนเอง ในกฎหมายนั้น ได้มีการแยกย่อยออกมาเป็นกฎหมายประเภทต่างๆ ซึ่งทนายความก็สามารถแบ่งแยกย่อยได้ ดังนี้
- ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการลงทุน ลิขสิทธิ์ การค้า งานฝีมือต่างๆ เช่น เพลง ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เป็นต้น
- ทนายความครอบครัว ทำหน้าที่ในการดูกฎหมายครอบครัวเป็นหลัก เช่น การหย่าร้าง การเลี้ยงดูบุตร การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม
- ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ดูแลคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทกำจัดขยะ กลุ่มผู้สนับสนุนสิ่งแวดล้อม หรือหน่วยงานรัฐต่างๆ
- ทนายความด้านภาษีอากร เป็นเรื่องหลักๆ ที่เรามักได้ยินกันบ่อยครั้ง นั่นก็คือ ‘ภาษี’ ทนายความทำหน้าที่ดูภาษีของลูกความ ให้จ่ายตามความเหมาะสมกับรายได้
อยากเป็นทนายความ เรียนสายไหนดี?
ระดับมัธยม
สามารถแบ่งออกได้เป็น สายสามัญ และ สายวิชาชีพ ได้แก่
- สายสามัญ สามารถเรียนจบได้ทั้งสายวิทย์คณิต ศิลป์คำนวณ หรือศิลป์ภาษา ก็ได้
- สายวิชาชีพ ต้องจบ ปวช. หรือ ปวส. สายที่เกี่ยวข้องกับการสอบคัดเลือก ตามเงื่อนไขของแต่ละสถาบัน
ปริญญาตรี
ศึกษาต่อใน คณะนิติศาสตร์ ใช้เวลาในการเรียน 4 ปี จบด้วยวุฒิการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.)
การทดสอบและฝึกอบรม
มีการสอบวิชาว่าความ โดยแบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่
- ภาคทฤษฎี : อบรมและทดสอบความรู้ทางทฤษฎี
- ภาคปฏิบัติ : หลังจากผ่านภาคทฤษฎีแล้ว อีกไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จะมีการทดสอบภาคปฏิบัติ
- การอบรมจริยธรรมและมารยาททนายความ
ใบประกอบวิชาชีพ
จะต้องการสมัครเป็นสมาชิกวิสามัญของเนติบัณฑิตยสถานก่อน จากนั้น ให้นำหลักฐานการเป็นสมาชิกไปยื่นขอใบประกอบวิชาชีพ
เงินเดือนทนายความ
หลังจากที่เรียนจบ จะต้องการสอบขอใบประกอบวิชาชีพก่อน ถึงจะสามารถเริ่มต้นทำงานเป็นทนายความได้ โดยมีฐานเงินเดือนตามนี้
- ทนายความประจำสำนักงานทนายความ : 15,000 – 50,000 บาท
- ทนายความอิสระ : 20,000 – 100,000 บาท
- หุ้นส่วนสำนักงานทนายความ : 70,000 – 1,000,000 บาท
สรุป
ใครอยากเป็น ทนายความ ให้มาทางนี้ ขอบอกเลยว่า งานนี้ไม่ได้หมูอย่างที่คิด เพราะนอกจากการท่องจำกฎหมายต่างๆ นานาแล้ว ทนายความยังต้องมีทักษะในการสังเกต มีความละเอียดรอบคอบ คิดวิเคราะห์เก่ง สามารถทำงานภายใต้แรงกดดันสูง และต้องหมั่นขยันในการค้นคว้าหาข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยในการว่าความให้กับลูกความของเราให้พ้นผิด ในส่วนของเรื่องเงินเดือนนั้น ก็ถือว่าค่อนข้างดีใช้ได้ โดยเฉพาะทนายความอิสระ ที่สามารถรับเงินค้าจ้างได้จากลูกความโดยตรง
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Airdrie Personal Injury Lawyer