ในช่วงที่กำลังจบใหม่ ทุกคนต่างคิดว่า จะไปทำงานอะไรดี หนึ่งในอาชีพที่มีการประกาศหางานมากที่สุด นั่นก็คือ พนักงานฝ่ายบุคคล (HR) เป็นอาชีพที่อยู่เบื้องหลังจากการทำงาน แต่แท้จริงแล้ว มีความสำคัญในการพัฒนาองค์กรเป็นอย่างมาก หลายคนมีภาพความคิดว่า HR คือคนที่มาสัมภาษณ์เวลาเข้าทำงานเท่านั้น แต่ที่จริง มีหน้าที่หลากหลายด้านขององค์กร แต่จะมีหน้าที่อย่างไร มีสายงานอะไร แล้วมีความน่าสนใจอย่างไรนั้น ต้องไปดู
รู้จักอาชีพ ‘พนักงานฝ่ายบุคคล’
พนักงานฝ่ายบุคคล หรือ HR ที่ย่อมาจาก Human resources เป็นงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร มีหน้าที่ในการจัดหาพนักงาน คัดเลือก ว่าจ้าง ดูแลเรื่องค่าจ้าง เงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ ผู้ที่ทำงานด้านนี้ ต้องมีความสามารถในการเข้าหาคนในทุกกลุ่ม เพื่อจะได้เข้าถึงปัญหาอย่างถ่องแท้และแก้ไขมัน รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคคลการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ลักษณะงานของพนักงานฝ่ายบุคคล
ภาพรวมของ HR จะมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่อยู่ภายในองค์กรล้วนๆ ตั้งแต่การรับสมัคร สัมภาษณ์ ตรวจสอบ ค่าจ้าง เงินเดือน วางแผนกำลังคน สร้างความสัมพันธ์กับแต่ละฝ่าย เพื่อช่วยให้องค์กรมีความเหนียวแน่นและมั่นคงมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้รู้ว่า ในแต่ละปีองค์กรมีการเติบโตมากขึ้นเท่าใดและต้องการพนักงานเพิ่มเท่าไหร่ โดยแอดมินสามารถแบ่งลักษณะงานของพนักงานฝ่ายบุคคลได้ดังนี้
- วางแผนทรัพยากรบุคคล (HR planning)
HR ต้องทำงานกับทุกฝ่าย เพื่อจะได้รู้ว่า ฝ่ายใด ต้องการพนักงานที่มีคุณสมบัติอย่างไร ต้องการจำนวนเท่าไหร่ รวมไปถึงการอบรมพนักงานใหม่ให้เข้าใจในเรื่องพื้นฐานขององค์กร รวมไปถึงการจัดวางระบบและโครงการต่างๆ
- คัดเลือกบุคลากร (Recruitment)
ทำหน้าที่จัดหาคนมาสมัครงาน ทำการคัดเลือกจากประวัติ และทำการสัมภาษณ์ในตำแหน่งงานต่างๆ ที่ทางองค์กรเปิดรับ มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ หรือ ไปออกอีเว้นท์ตามตลาดจัดการงานต่างๆ ด้วย
- อบรมและพัฒนาบุคลากร (Training & Development)
เพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น HR จะเป็นผู้จัดทำโครงการการอบรวมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ การทำงานเป็นทีม ทำให้พนักงานสามารถเติบโตในบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และ มีการพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ
- การประเมินผลงาน (Appraisal)
เป็นการประเมินงานของพนักงานเป็นรายเดือนหรือรายปีว่า มีการทำงานมากน้อยแค่ไหน การเข้าออกบริษัท การหยุดงาน หรือรายละเอียดต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงาน HR จะเป็นคนประเมินว่า พนักงานคนนั้นควรได้รับรางวัลหรือได้รับคำตักเตือน
- ค่าจ้าง เงินเดือน และ สวัสดิการ (Payroll)
เป็นการทำงานเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่พนักงานควรจะได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา ประกันสุขภาพบริษัท ประกันสังคม ภาษี กองทุน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทและพนักงาน มีความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน สามารถดำเนินการต่างๆ ได้อย่างถูกกฎหมาย
- แก้และลดปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution)
การทำงานภายในองค์กร มักจะเกิดปัญหาทางด้านความสัมพันธ์อยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะองค์กรที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างชนชั้น เชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งเรื่องการเมือง จึงเป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายบุคคลต้องทำการแก้ปัญหา เพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้
คุณสมบัติของพนักงานฝ่ายบุคคล
- ทักษะทางด้านมนุษยสัมพันธ์
ด้วยความที่ต้องการประสานงานกับทุกฝ่าย ดังนั้น ทักษะนี้จึงมีความสัมพันธ์มาก แม้ว่าแต่ละฝ่ายจะมีลักษณะการทำงาน รวมถึงนิสัยของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป แต่ทาง HR จะต้องสามารถพูดคุยและเข้าถึงคนๆ นั้น หรือกลุ่มๆ นั้น ได้เป็นอย่างดี - ทักษะการสื่อสาร
การสื่อสาร ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะต้องพูดคุยกับพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานใหม่หรือพนักงานเก่า เพื่อชี้แจ้งเรื่องราวต่างๆ หากพูดได้ไม่ชัดเจนหรือใช้ข้อความกำกวม จะทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ และเกิดความผิดพลาดตามมา - มีการอัพเดตข้อมูล
นอกจากการประสานงานกับบุคคลภายในองค์กรแล้ว HR ยังต้องทำการสื่อสารกับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะกับทางภาครัฐ ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายแรงงาน หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ต้องอัพเดตให้ทัน เพื่อป้องกันการทำผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ - ทำงานฉับไว รวดเร็ว
แม้ว่าจะเป็นงานเอกสาร แต่ในช่วงเวลาที่เร่งรีบ ก็ต้องทำงานให้เสร็จ เพื่อไม่ให้องค์กรเกิดความเสียหาย หากมีคนจากฝ่ายอื่นเข้ามาขอความช่วยเหลือ ก็ต้องช่วยคนอื่นด้วยความฉับไว ทำให้พนักงานเกิดความประทับใจ รู้สึกว่า HR พึ่งพาได้ - เก็บความลับเป็น
HR เป็นผู้ที่รู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งในองค์กรและส่วนตัวของบุคคล แต่ไม่สามารถนำไปแพร่งพรายให้คนอื่นรู้ได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นความลับของพนักงาน ทั้งเรื่องเงินเดือน และข้อมูลต่างๆ ต้องปิดให้เงียบ ไม่เปิดเผยให้ใครรู้
แนวทางการเรียน เพื่อเป็นพนักงานฝ่ายบุคคล
ใครที่ใฝ่ฝันอยากทำงานด้านบุคคล เป็นพนักงานฝ่ายบุคคล หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า HR จะจบสายวิทย์หรือสายศิลป์ก็ได้ และเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ควรเลือกเรียนคณะและสาขาวิชาดังต่อไปนี้
- คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยา, สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรม
- คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ สาขาการปกครอง สาขารัฐประศาสนศาสตร์
- คณะพาณิชยศาสตร์ สาขาบริหารทรัพยากรมนุษย์
- คณะบริหารการจัดการ สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์
เงินเดือนพนักงานฝ่ายบุคคล
เงินเดือนทั้งหมด ใช้เกณฑ์สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีมาทั้งหมด โดยสามารถแบ่งได้ตามตำแหน่งต่อไปนี้
- HR Administrative officer / HR Generalist / HR Specialist: 18,000 – 30,000 บาท
- Assistant Human Resource Manager: 25,000 – 60,000 บาท
- Human Resource Manager: 50,000 – 150,000 บาท
- Human Resource Director: 100,000 – 180,000 บาท
สรุป
นอกจากการสรรหาบุคคลเข้ามาทำงานในองค์กรแล้ว พนักงานฝ่ายบุคคล (HR) มีหน้าที่มากกว่าที่หลายคนคิดไว้ เพราะจริงๆ แล้ว ตำแหน่งนี้ ทำหน้าที่เกี่ยวกับบุคลเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการหาคน คัดเลือก ดูแลสวัสดิการ เงินเดือน พัฒนาประสิทธิภาพของพนักงาน ประสานงานกับแต่ละฝ่าย และอื่นๆ อีกมากมาย คนที่ทำงานนี้ได้ จะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถเข้าได้กับคนทุกประเภท สื่อสารชัดเจน ทำให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย ใครที่อยากทำงานตำแหน่งนี้ สามารถไปลองหาได้ใน JobsChiangrai ได้เลย
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Greenpeace MENA