การ์ตูนวิศวกร

เมื่อเรามองไปรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็น อาคารบ้านเรือน สิ่งก่อสร้างต่างๆ กว่าจะออกมาเป็นแบบนี้ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ใช่แค่การดีไซน์ แต่ยังรวมไปถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยของสิ่งปลูกสร้างว่า สิ่งๆ นั้นมีความแข็งแรงมากแค่ไหน เหมาะกับการใช้งานหรือไม่ แล้วต้องทำอย่างไรให้ไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น และหน้าที่เหล่านั้น ก็คือ หน้าที่ของ วิศวกรโยธา ผู้ดูแลการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน งานของวิศวกรโยธาจะมีอะไรบ้างนั้น แล้วถ้าใครอยากทำงานนี้ ต้องเตรียมอย่างไร มาดูบทความของ JobsChiangrai ไปด้วยกันเลย

วิศวกรโยธา คืออะไร

คุมงานก่อสร้าง

วิศวกรโยธา ทำหน้าที่ในการดูแลตัวอาคาร ถนน อุโมงค์ สะพาน สนามบิน เขื่อน หรือแม้กระทั่ง ระบบสุขาภิบาล ซึ่งทุกสิ่งก่อสร้าง จะต้องมีการคำนวณถึงหลายๆ อย่าง เช่น สภาพของดินในบริเวณที่ทำการปลูกสร้าง น้ำ ความทนทานต่อแสงแดด ลม พายุ หรือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ มีการคำนวณโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง และยังต้องดูว่า สิ่งที่เราสร้างนั้น ไม่ขัดต่อกฎหมายข้อใด

ซึ่งผู้ที่จะทำอาชีพนี้ได้นั้น จะต้องเรียนจบสายนี้มาโดยตรง และ ได้รับ ใบอนุญาตประกอบวิชีพวิศวกรรม ด้วย โดยสามารถแบ่งสายงานของวิศวกรรมโยธาออกได้หลักๆ ทั้งหมด 6 สาย ได้แก่ วิศวกรรมโครงสร้าง  วิศวกรรมฐานราก วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ วิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง วิศวกรรมสำรวจ และ วิศวกรรมขนส่ง

หน้าที่ของวิศวกรโยธา

หากมองในภาพรวมแล้ว วิศวกรโยธา มีหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยของอาคารบ้านเรือน โดยวางจากรากฐานของการสร้าง มีการคิดคำนวณว่า ทำอย่างไร จึงจะสร้างออกมาใช้งานได้จริงและปลอดภัยมากที่สุด มีการคำนวณจากสภาพแวดล้อมต่างๆ โดยสามารถแบ่งหน้าที่ในการทำงานของวิศวกรโยธาได้ ดังนี้

ไซต์ก่อสร้าง

  • มีการพูดคุยรายละเอียดงานต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการคำนวณโครงสร้าง
  • ประเมินโครงการที่ได้รับมาในแง่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือ ทางอากาศ ว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง
  • ทำการขออนุญาตหรือประสานงานกับทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
  • เจาะสำรวจชั้นดินว่า สามารถรองรับน้ำหนักได้มากน้อยแค่ไหน
  • ทำแผนเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น แผนรายงานผลการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุ การประเมินราคา เป็นต้น
  • วางแผนว่า ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือประเภทใดในการทำงานบ้าง เพราะต้องมีการติดต่อประสานงานกับทางหน่วยงานอื่น ก่อนที่จะลงมือทำ
  • คุยงานกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ
  • คอยสำรวจงานว่า ดำเนินไปได้อย่างไรบ้าง ดูว่ามีปัญหาอะไร มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น ‘วิศวกรโยธา’

คุยงานก่อสร้าง

  • เป็นคนช่างสังเกต ถือเป็นทักษะสำคัญของอาชีพนี้จริงๆ เพราะต้องสังเกตรอบตัวเสมอว่า มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเป็นปัจจัยต่องานของเราหรือไม่ บางสิ่งบางอย่างอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สามารถส่งผลร้ายแรงได้ในอนาคต
  • ทักษะในการวางแผน การวางแผนงานแต่ละอย่าง จะต้องก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด หรือ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเลย สำเร็จลุล่วงไปตามแผนที่วางไว้
  • ทักษะการเป็นผู้นำ งานนี้เป็นงานที่ต้องควบคุมคนเป็นจำนวนเยอะมาก สามารถออกคำสั่งได้อย่างแม่นยำ ทำให้งานออกมาตามที่ต้องการ มีความเป็นผู้นำที่ดี มีวาทศิลป์ในการพูดกับคนอื่น
  • มีความอดทนสูง เพราะงานของวิศวกรโยธาไม่ใช่แค่อยู่ห้องออฟฟิศเท่านั้น แต่ยังต้องออกไปดูงานที่สถานที่ก่อสร้างของจริงอยู่บ่อยครั้ง
  • สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้าง วิธีการ อุปกรณ์ งบประมาณ หรือแผนการทำงานต่างๆ วิศวกรโยธาก็ต้องเป็นคนตัดสินใจ รวมถึงการดูแลหน้างาน ต้องสามารถตัดสินใจได้อย่างเฉียบขาด ทั้งที่ไปตามแผนและไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้

อยากเป็นวิศวกรโยธา ต้องทำอย่างไรบ้าง

พอมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่า หลายคนอยากที่จะทำงานนี้เป็นอย่างมาก และขอบอกเลยว่า แม้ว่าเงินเดือนจะสูง แต่งานก็ยากไปตามราคาเช่นกัน โดยคนที่อยากจะทำอาชีพนี้ ต้องเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะรับเฉพาะคนที่จบสายตรงมาเท่านั้น ต้องเรียนสายวิทย์คณิตในระดับมัธยมปลาย จากนั้น ก็เรียนต่อปริญญาตรีหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา แล้วไปสอบเพื่อเอาใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรม เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกร มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดสอน ดังต่อไปนี้

อุปกรณ์ทำงานของวิศวกรโยธา

  1. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน, กำแพงแสน, ศรีราชา,
  3. สกลนคร)    
  4. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  5. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  6. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  7. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  8. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  9. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  10. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  11. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  12. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  13. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  14. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  15. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  16. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  17. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
  18. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
  19. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
  20. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก  
  21. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  22. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
  23. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
  24. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  25. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
  26. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์
  27. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ  
  28. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
  29. วิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  30. วิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  31. วิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  32. มหาวิทยาลัยเอกชนอื่น ๆ

เงินเดือนวิศวกรโยธา

สำหรับรายได้ของวิศวกรโยธา มักขึ้นอยู่กับองค์กรหรือโครงการที่จะทำ โดยสามารถแบ่งออกได้ตามตำแหน่งงาน ดังนี้

วิศวกรโยธาคุมงาน

  • Civil Engineer (ประสบการณ์ทำงาน 1 – 5 ปี): 25,000 – 45,000 บาทต่อเดือน
  • Senior Civil Engineer (ประสบการณ์ทำงาน 5 – 10 ปี): 50,000 – 80,000 บาทต่อเดือน
  • Construction Manager: 80,000 – 150,000 บาทต่อเดือน

ประชุมงาน

สรุป

งานของ วิศวกรโยธา ไม่ได้หมายถึงเพียงสิ่งปลูกสร้างอย่าง บ้านเรือน หรือ อาคาร เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง รถไฟฟ้า เขื่อน ถนน การจราจร ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการคำนวณของวิศวกรโยธา เพราะถ้าหากงานเกิดความเสียหายตั้งแต่เริ่มทำ จะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว อาจจะเป็นทางทรัพย์สินหรือหมายถึงชีวิตของคนที่ต้องได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุก็ได้ ใครที่จะทำงานนี้ ต้องมั่นใจว่ารอบคอบมากพอ สามารถวางแผน คิดวิเคราะห์ได้ดี มีทักษะการเป็นผู้นำ และ สามารถวางแผนได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Build Magazine

บทความแนะนำ

Author Image

Sunny

Happy Work Happy Life