เวลาที่เราสั่งของ ก็มักจะมีของมาส่งให้เราที่บ้าน แต่กว่าที่ของจะส่งมาได้นั้น รู้หรือไม่ว่า จะต้องมีการวางแผนระบบต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย รวมไปถึงความปลอดภัยของสินค้ามากที่สุด โดยคนที่ทำหน้าที่นี้ ก็คือ โลจิสติกส์ หรือ นักจัดการขนส่ง งานนี้ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำได้ เพราะส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นคนที่จบสายการเรียนทางด้านนี้โดยเฉพาะ ใครที่สงสัยว่า โลจิสติกส์คืออะไร ทำอะไรบ้าง หากอยากทำงานนี้ ต้องเรียนจบทางด้านไหน และ เงินเดือนโลจิสติกส์ เท่าไหร่ ก็สามารถเข้ามาอ่านในบทความของ JobsChiangrai กันได้เลย
โลจิสติกส์ คืออะไร
โลจิสติกส์ (Logistics) เป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการขนส่ง หากพูดไปในเชิงของธุรกิจแล้ว ก็คือ ระบบการขนส่งสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล สินค้า หรือ ทรัพยากรประเภทต่างๆ โดยจะเริ่มต้นจากผู้ผลิตไปหาผู้บริโภค โดยจะมีการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างให้อยู่ในราคาที่คุ้มค่ามากที่สุด การขนส่งนั้น จะต้องก่อให้เกิดความพอใจกับทั้งสองฝ่าย มีการทำงานหลากหลายส่วน เช่น จัดการสินค้า ดูแลคลังสินค้า บรรจุห่อสินค้า การเลือกวิธีการขนส่ง เป็นต้น
ในวันหนึ่ง โลจิสติกส์ ทำงานอะไรบ้าง
สิ่งนี้ น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะหากพูดถึงการส่งของ เราก็มักจะนึกถึงพนักงานที่มาส่งของเท่านั้น โดยงานโลจิสติกส์ สามารถแบ่งออกได้หลายแบบ ทั้งงานประสานงาน วิเคราะห์งาน ผู้จัดกการขนส่ง ซึ่งโดยรวมแล้ว ต้องเข้าใจเนื้อหาของงานทั้งหมดก่อน ใช้วิธีการคำนวณด้านต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้ได้มากที่สุด และทำให้พอใจทั้งผู้ได้รับสินค้าและส่งมอบสินค้า สามารถแบ่งขอบเขตงานได้ ดังนี้
- วางแผนในการขนส่งสินค้าตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยจะต้องเสียเวลาและเสียเงินให้น้อยที่สุด
- ตรวจสอบความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด งานทุกอย่างต้องเรียบร้อย
- วางแผนสถานที่ในการเก็บของให้เหมาะสมกับสินค้า เพื่อไม่ให้สินค้าได้รับความเสียหาย
- จัดสินค้าตามหมวดหมู่ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล
- เขียนรายงานทุกกระบวนการในการทำงาน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- ประสานงานกับหน่วยงานนอกองค์กรและในองค์กร
อยากเป็น นักโลจิสติกส์ ต้องมีทักษะทางด้านใดบ้าง
ใครที่อยากเป็นนักโลจิสติกส์ที่ดี ต้องมีทักษะเหล่านี้เอาไว้ จะช่วยให้งานออกมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ตามนี้
- ทักษะการจัดการ ถือเป็นทักษะแรกที่ต้องมีในการทำอาชีพนี้ เพราะงานส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับการจัดการงานต่างๆ ทางด้านการขนส่ง
- ทักษะในการสื่อสาร นอกจากทักษะในการจัดการแล้ว การสื่อสาร ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะคุณจะไม่ได้ทำงานแค่ในองค์กรเท่านั้น ในบางครั้งก็ต้องติดต่อกับคนนอกองค์กร และยังต้องติดต่อกับฝ่ายต่างๆ ในกระบวนการทำงานอีกด้วย
- ทักษะในการบริการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับงานนี้ เพราะคุณต้องทำงานให้ดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและต้องการใช้บริการกับทางองค์กรของคุณอีกครั้ง
- ทักษะการแก้ปัญหา มักจะมีหลายครั้งที่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับการขนส่งที่มีปัญหา คนที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ ก็คือ นักโลจิสติกส์ ซึ่งบางครั้งก็จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นกะทันหัน และ คุณจะต้องหาวิธีในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับองค์กร
- ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ การขนส่งไม่ได้มีเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงต่างประเทศด้วย เราจะต้องมีทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ เพื่อใช้เป็นภาษากลางในการสื่อสารกับอีกฝ่าย
อยากเป็นนักโลจิสติกส์ ต้องเรียนอะไรบ้าง
งานโลจิสติกส์ เป็นงานที่เกิดขึ้นมาจากการผสมผสานศาสตร์หลายๆ แขนง ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมอุตสาหกรรม หรือ การบริหารธุรกิจ ทุกอย่างล้วนมีส่วนช่วยทำให้การขนส่งเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้มากที่สุด และเกิดความพอใจแก่ผู้บริโภค ในประเทศ มีมหาวิทยาลัยที่เปิดให้เรียนทางด้านโลจิสติกส์อยู่เพียงเล็กน้อย ควรจบมัธยมสายวิทย์คณิตหรือศิลป์คำนวณมาก่อน จากนั้น จึงไปต่อมหาวิทยาลัยตามสาขา ดังต่อไปนี้
- สาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- สาขาวิศวกรรมการจัดการและโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
- สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- สาขาการจัดการโลจิสติกส์ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- สาขาวิชาเทคโนโลยีโลจิสติกส์ คณะเทคโนโลยีสังคม มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก
- ภาควิชาวิศวกรรมโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
- สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต
- สาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- สาขาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- สาขาการจัดการโลจิสติกส์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
เงินเดือนโลจิสติกส์
สำหรับเงินเดือนของคนที่ทำงานทางด้านโลจิสติกส์นั้น จะขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กรและตำแหน่งที่ทำงานอยู่ สามารถแบ่งรายได้ต่อเดือน ตามนี้
- Logistic Officer: ประมาณ 20,000 – 30,000 บาท
- Logistic Supervisor: ประมาณ 34,000 – 37,000 บาท
- Logistic Specialist: ประมาณ 50,000 – 70,000 บาท
- Logistic Project Manager: ประมาณ 90,000 – 150,000 บาท
- Supply Chain Manager: ประมาณ 100,000 – 200,000 บาท
สรุป
เห็นรายได้ดีแบบนี้ ขอบอกเลยนะคะว่า งานของ โลจิสติกส์ ไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดเลย เป็นงานที่มีความเครียดมาก มีแรงกดดันสูง ต้องสามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ สามารถแก้ปัญหาได้ทันทีหากเกิดเรื่อง มีหลายครั้งที่ทำงานไม่เป็นเวลา หากเกิดเรื่องเร่งด่วน ก็ต้องเดินทางไปที่คลังสินค้าทันที เพราะทุกอย่างไม่สามารถรอได้
แต่หากใครได้ทำสายงานนี้ ก็สามารถทำสายงานอื่นได้หลายสาย เพราะเป็นเหมือนกับการมองภาพรวมของธุรกิจ ทำให้เข้าใจการทำงานในภาคธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ใครชอบสายงานนี้ ก็อย่าลืมเตรียมตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อความพร้อมในการทำงาน
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก The University of Tennessee